ที่มาของภาพประกอบ: CQG
เป็นที่ทราบกันดีว่าปี 2020 จนถึงปัจจุบันนั้นมนุษยชาติกำลังฝ่าฟันวิกฤตโรคระบาดที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของโลก ผลกระทบจากการแพร่ระบาดทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเงินจำนวนมหาศาลก่อนจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินในเดือนสิงหาคมปี 2020 ที่อนุญาตให้เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นเกิน 2% ได้ สิ่งที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ มั่นใจและกล้าที่จะปล่อยอัตราเงินเฟ้อให้ลอยตัวได้ขนาดนี้คือความเชื่อมั่นว่าจะสามารถคุมสถานการณ์ได้อยู่ แต่หากมองในแง่ของความเสี่ยงนั้นก็ต้องถือว่าการตัดสินใจครั้งนี้ของธนาคารกลางสหรัฐฯ มีความเสี่ยงสูงอยู่พอสมควร
ความเสี่ยงที่ตามมากับปัญหาเงินเฟ้ออยู่เสมอคือ “ปัญหาเงินเฟ้อขั้นรุนแรง (Hyperinflation)” แม้ว่าภาครัฐจะเชื่อมั่นว่าตัวเองสามารถควบคุมความเสี่ยงได้ดี แต่การเติบโตของเงินเฟ้อรุนแรงนั้นมักจะมาเร็ว มาแรง และสามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจได้เมื่อนักลงทุนเห็นว่าธนาคารกลางเริ่มใช้เครื่องมืออย่างการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยหรือการคุมเข้มในนโยบายการเงินเข้าควบคุม พวกเขาจะยิ่งช่วยกันดันอัตราเงินเฟ้อให้เพิ่มสูงขึ้นจากเงินในมือที่พวกเขามี นั่นถือเป็นจุดที่ควบคุมได้ยากลำบากที่สุด
นักลงทุนสามารถสังเกตได้ว่าปัญหาเงินเฟ้อกำลังก่อตัวได้ในระดับไหนโดยดูจากสินค้าโภคภัณฑ์ที่ดูแล้วไม่มีเหตุผลให้ปรับตัวขึ้นได้เลย ในที่นี้เราสามารถเห็นสัญญาณนั้นได้อย่างชัดเจนจากกราฟซื้อขายเส้นใยฝ้ายหรือที่เรียกกันติดปากว่า “คอตตอน” และไม้แปรรูปล่วงหน้าในตลาด ICE ก่อนหน้าที่จะเห็นสัญญาณเงินเฟ้อ กราฟคอตตอนล่วงหน้าเคยลงไปสร้างจุดต่ำสุดที่ 48.35 เซนต์ในช่วงปลายเดือนมีนาคมและต้นเดือนเมษายน ในขณะที่กราฟไม้แปรรูปก็ได้ปรับตัวลดลงไปยังจุดต่ำสุด $251.50 ในเดือนเมษายนเช่นเดียวกัน แต่ตอนนี้ราคาซื้อขายของสินค้าทั้งสองกลับสามารถกลับขึ้นมาได้เป็นสองเท่าแล้ว
คอตตอนกับการสร้างจุดสูงสุดใหม่ในรอบหลายปี
หากเทียบกับสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่นๆ ในตลาดแล้ว ตลาดซื้อขายคอตตอนถือเป็นตลาดที่มีสภาพคล่องต่ำเพราะผู้คนให้ความสนใจน้อย แต่คอตตอนก็มีบทบาทสำคัญในฐานะการถูกนำไปผลิตเสื้อผ้า ที่นอน เครื่องนุ่งห่มต่างๆ ในช่วงเดือนเมษายนปี 2020 กราฟซื้อขายคอตตอนล่วงหน้าได้เคยลงไปสร้างจุดต่ำสุดเอาไว้ที่ 48.35 ปอนด์ ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2009 แต่ในช่วงต้นปี 2021 นั้นกราฟราคาซื้อขายคอตตอนกลับสามารถขยับตัวขึ้นยืนเหนือ 80 เซนต์ต่อปอนด์ได้
Source, all charts: CQG
กราฟรายเดือนที่ปรากฎด้านบนแสดงให้เห็นช่วงเวลาที่กราฟคอตตอนเคยขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดที่ 87.33 เซนต์เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ สามารถขึ้นยืนเหนือจุดสูงสุดก่อนหน้านั้นได้มากกว่า 80% ครั้งสุดท้ายที่ราคาคอตตอนสามารถปรับตัวขึ้นมาได้อย่างมีนัยสำคัญต้องย้อนกลับไปในช่วงปี 2008-2011 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่สหรัฐฯ พึ่งผ่านวิกฤตการเงินมา ในช่วงนั้นกราฟคอตตอนสามารถขึ้นจาก 36.7 เซนต์ขึ้นไปถึง $2.27 ต่อปอนด์ได้
ไม้แปรรูปมีราคาซื้อขายอยู่ใกล้กับจุดสูงสุดตลอดกาล
หากบอกว่าตลาดซื้อขายคอตตอนมีสภาพคล่องต่ำแล้ว เชื่อหรือไม่ว่าสภาพคล่องในตลาดซื้อขายไม้แปรรูปนั้นต่ำยิ่งกว่าตลาดคอตตอนเสียอีก อย่างไรก็ตามไม้แปรรูปก็ยังเป็นที่ต้องการสำหรับงานก่อนสร้าง ยิ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ในระดับต่ำของธนาคารกลางสหรัฐฯ ยิ่งทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงการต่อเติมบ้าน การก่อสร้างได้ง่ายขึ้น
กราฟในรูปนี้แสดงช่วงเวลาที่ราคาซื้อขายไม้แปรรูปล่วงหน้าสามารถขึ้นจาก $137.90 ตั้งแต่ต้นปี 2009 ไปจนถึงจุดสูงสุดที่ $325.11 ได้ในปี 2011 จากการเข้ามาถือดอลลาร์สหรัฐของธนาคารกลางในช่วงนั้นเพื่อเสริมสภาพคล่อง ในช่วงที่วิกฤตโควิด-19 ระบาดในปีที่แล้ว ราคาซื้อขายไม้แปรรูปล่วงหน้าเคยร่วงลงไปสร้างจุดต่ำสุดที่ $251.50 ต่อ 1,000 บอร์ดฟุตในเดือนเมษายนก่อนที่จะสามารถดีดกลับขึ้นมาสร้างจุดสูงสุดเหนือ $1,000 ต่อ 1,000 บอร์ดฟุตได้ในเดือนกันยายนปี 2020
แม้ว่าทั้งคอตตอนและไม้แปรรูปจะมีสภาพคล่องต่ำเมื่อเทียบกับสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่นอย่างเช่นน้ำมันดิบ ทองแดงและข้าวสาลี แต่การปรับตัวขึ้นของราคาซื้อขายสินค้าเหล่านี้ล่วงหน้าก็แสดงให้เห็นแล้วว่าราคาคอตตอนและไม้แปรรูปถึงจะมีราคาสูงขึ้นแต่ผู้คนก็ยังสามารถเอื้อมถึงได้ กลายเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นแล้วว่าเรากำลังอยู่ในยุคที่มีเงินเฟ้อแล้ว
กราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลคือตัวบ่งชี้สัญญาณเงินเฟ้อด้วยเช่นกัน
ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลถือเป็นตัวบ่งชี้อัตราเงินเฟ้อได้ดีที่สุดเพราะทิศทางการวิ่งของสินทรัพย์ประเภทนี้จะไปในทิศทางตรงกันข้ามกับอัตราดอกเบี้ยเสมอ ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ กำหนดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระยะสั้น แต่ตลาดกลับเพิ่มการลงทุนตามเส้นอัตราผลตอบแทน ในขณะเดียวกันโครงการผ่อนคลายเชิงปริมาณของเฟดเป็นความพยายามที่จะรักษาอัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้อยู่ในระดับต่ำผ่านการซื้อตราสารหนี้จำนวน $120,000 ล้านดอลลาร์ในแต่ละเดือน
รูปด้านบนเป็นกราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปีรายสัปดาห์ที่เริ่มปรับตัวลดลงมาตั้งต่ช่วงต้นเดือนสิงหาคมปี 2020 ในช่วงกลางเดือนตุลาคมปีที่แล้ว กราฟได้ปรับตัวลดลงต่ำกว่าแนวรับ 172-17 ต่ำกว่าจุดต่ำสุดในเดือนมิถุนายนปี 2020 ในช่วงต้นปี 2021 กราฟผลตอบแทนได้ปรับตัวลงมายังแนวรับ 169-09 ก่อนที่จะลงมายัง 165-28 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หากเป็นเช่นนี้ต่อไป มีโอกาสที่ราคาจะลงมายังแนวรับ 155-05 ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดในช่วงปลายปี 2019
ขาขึ้นในสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่นๆ ก็สามารถบอกถึงอัตราเงินเฟ้อได้เช่นกัน
ไม่ใช่เพียงคอตตอนและไม้แปรรูปเท่านั้นที่สามารถบอกถึงสัญญาณภาวะเงินเฟ้อได้ นักลงทุนสามารถสังเกตพฤติกรรมขาขึ้นเหล่านี้ได้จากสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่นเช่นขาขึ้นของแร่ทองแดงที่ขึ้นจาก $2.0595 ในช่วงปลายเดือนมีนาคม ขึ้นมายังจุดสูงสุด $3.8050 ต่อปอนด์ก่อนที่จะทรงตัวอยู่ที่ $3.7880 เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว
ราคาน้ำมันดิบแม้จะมีแรงผลักดันมาจากความต้องการน้ำมันที่เริ่มกลับมาเพราะการกระจายวัคซีนแล้ว แต่การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบของรัฐบาลก็ทำให้ผู้คนมีเงินซื้อน้ำมันดิบมากขึ้น ราคาน้ำมันดิบ WTI ก่อนหน้านี้เคยลงไปอยู่ในระดับติดลบที่ $40.32 ต่อบาร์เรลในเดือนเมษายนปี 2020 ตอนนี้สามารถขึ้นมายืนเหนือ $60 ต่อบาร์เรลได้อีกครั้งในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ก็สามารถขึ้นมายืนอยู่ที่ $62.43 ต่อบาร์เรลได้เช่นกันเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว
นอกจากนี้ยังมีราคาซื้อขายข้าวโพดและพืชถั่วเหลืองล่วงหน้าที่ปรับตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดในเดือนเมษายนปีที่แล้วขึ้นมายัง $5.3875 และ $13.72 เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ได้ตามลำดับ และหากได้เปิดดูกราฟสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่นๆ ก็จะเห็นปรากฎการณ์เดียวกันนี้ภายในช่วงสิบเดือนล่าสุด การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่วิ่งสวนทางกับกราฟผลตอบแทนพันธบัตรฯ ระยะยาวชี้ให้เห็นแล้วว่านโยบายการปล่อยอัตราเงินเฟ้อลอยตัวของเฟดกำลังทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน
ยิ่งราคาของสินค้าในตลาดโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้นมากเท่าไหร่ ยิ่งหมายความว่ามีเงินอยู่ในระบบมากเท่านั้น คำถามก็คือ “ในวันที่เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ พอใจแล้ว พวกเขาจะสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้จริงอย่างที่คิดเอาไว้หรือไม่”