ขาลงของทองคำจนสิ้นแล้วหรือยัง?
นี่คือคำถามที่นักลงทุนถามกับนักวิเคราะห์อยู่เป็นประจำนับตั้งแต่เปิดปีใหม่ 2021 เป็นต้นมา เพราะโดยหลักการแล้วการประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นควรจะทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง และทองคำควรที่จะปรับตัวสูงขึ้น ก่อนที่โจ ไบเดนจะขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของอเมริกาเมื่อคืนนี้ เขาได้สัญญาเอาไว้ว่าจะอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในวงเงิน $1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐให้เร็วที่สุด ในเมื่อดอลลาร์ก็ต้องอ่อนค่าแน่นอนแล้ว แต่ทำไมราคาทองคำถึงได้ร่วงลง 3.5% กลายเป็นขาลงที่มากที่สุดนับตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนได้
นักวิเคราะห์เชื่อว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาทองคำอ่อนค่าคือการปรับตัวขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรุ่นอายุ 10 ปี สาเหตุที่กราฟผลตอบแทนฯ ขึ้นนั้นเพราะต้องการขานรับข่าวดีที่พรรคเดโมแครตสามารถครองทั้งทำเนียบขาว สภาสูง และสภาล่างได้หมด แม้ว่าการอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าแต่ก็จะทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีปรับตัวขึ้น
ในขณะที่ผมกำลังเขียนบทความนี้อยู่ กราฟดัชนีดอลลาร์สหรัฐได้ปรับตัวลดลงเป็นวันที่สามติดต่อกัน มีราคาซื้อขายอยู่ที่ 90.31 กลายเป็นจุดต่ำสุดล่าสุดในรอบหนึ่งสัปดาห์ ในขณะที่ราคาซื้อขายทองคำล่วงหน้าบนตลาด COMEX สามารถขึ้นยืนเหนือ $1,850 ต่อออนซ์ได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยลงไปสร้างจุดต่ำสุดเอาไว้ที่ $1,804 ภายในเวลาเพียงสามวันเท่านั้นที่ทองคำใช้เวลาวิ่งกลับขึ้นมาจนใกล้จะถึง $1,963
Sunil Kumar Dixit นักวิเคราะห์ทองคำจาก SK Dixit Charting ประเทศอินเดียมองว่าราคาทองคำล่วงหน้ามีโอกาสที่จะวิ่งกลับขึ้นไปยัง $1,890 ได้
“ตราบใดที่ราคาทองคำยังสามารถยืนเหนือ $1,828 และ $1,838 นักลงทุนจะพยายามดันราคาให้ขึ้นไปถึงเส้นค่าเฉลี่ย 200 วันในกราฟ 4 ชั่วโมงซึ่งอยู่ที่ระดับราคา $1,870 หากมีนักลงทุนฝั่งกระทิงมากพอ ก็อาจจะสามารถดันราคาให้ขึ้นไปถึง $1,890 ได้ในระยะสั้น อินดิเคเตอร์ RSI ตอนนี้พร้อมแล้วที่จะขึ้นเมื่อดูจากกราฟ 4 ชั่วโมงและกราฟรายวัน”
แม้ว่าในช่วงสองสัปดาห์ก่อน ปัจจัยที่คอยขับเคลื่อนราคาทองคำและกราฟสกุลเงินดอลลาร์จะยังคงเป็นข่าวเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ภายใต้การนำของโจ ไบเดน แต่ 4 ปัจจัยต่อไปนี้จะเป็นตัวกำหนดว่าทองคำจะยังสามารถยืนอยู่บนเส้นทางขาขึ้นที่มุ่งหน้าสู่ $1,900 ได้หรือไม่
1. การขาดดุลงบประมาณและจำนวนหนี้ของสหรัฐอเมริกา
นักวิเคราะห์นามว่าวิคเตอร์ เดอร์กูนอฟจากบริษัท Albright Investment Group ชี้ให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจว่าตอนนี้กราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีมีตัวเลขอยู่ที่ 1.1% เท่ากับว่าค่าใช้จ่ายในภาคบริการรายปีของสหรัฐฯ จะมีตัวเลขอยู่ที่ $370,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ตอนนี้สหรัฐฯ มีหนี้สินแตะ $28 ล้านล้านเหรียญสหรัฐไปแล้วและตัวเลขหนี้ต่อ GDP ของประเทศก็มีค่าอยู่ที่ 146% และหลังจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัมป์มูลค่า $3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปีที่แล้ว ก็ทำให้ตัวเลขการขาดดุลงบประมาณของประเทศมีตัวเลขอยู่ที่ $4.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
เมื่อไหร่ก็ตามที่กราฟผลตอบแทนพันธบัตรฯ อายุ 10 ปีสามารถยืนอยู่เหนือ 2% ได้ บวกกับหนี้สินจำนวน $30 ล้านล้านเหรียญสหรัฐจะทำให้อเมริกามีค่าใช้จ่ายในส่วนของภาคบริการรายปีอยู่ที่ประมาณ $660,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สิ่งที่เดอร์กูนอฟพยายามจะสื่อก็คือตัวเลขการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้นมีแต่จะทำให้หนี้ของอเมริกาเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ยิ่งกราฟผลตอบแทนฯ พุ่งขึ้นมากเท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายสำหรับการบริการของรัฐก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น
“ผมไม่คิดว่ากราฟผลตอบแทนฯ จะขึ้นไปได้ไกลกว่านี้เพราะรัฐบาลสหรัฐฯ คงไม่ชอบใจแน่ที่เห็นตัวเลขหนี้พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในตอนนี้ก็ไม่ได้เอื้อต่อการเติบโตขนาดนั้น ยิ่งกราฟผลตอบแทนพุ่งขึ้นเร็วเท่าไหร่ จำนวนหนี้ที่เข้ามาในระบบก็จะยิ่งตามมาได้เร็วเช่นนั้น คงไม่ใช่ภาพที่โจ ไบเดนถูกตราหนี้ในปีแรกของการเข้าทำงานอย่างแน่นอน”
2. ปริมาณเงิน (M2)
ในเชิงเศรษฐศาสตร์ปริมาณเงิน (Money Supply หรือ Money Stock) หมายถึง เป็นปริมาณของเงินหรือสินทรัพย์อื่นที่ใกล้เคียงกับเงินที่หมุนเวียนอยู่ในในระบบเศรษฐกิจ ประกอบด้วยธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ที่อยู่ในมือประชาชน และรวมถึงเงินฝากกระแสรายวัน ซึ่งเป็นเงินฝากเผื่อเรียกที่ประชาชนฝากไว้ที่ระบบธนาคาร อาทิ ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ปริมาณเงินจะจำแนกประเภทตามขนาด ดังนี้
ปริมาณเงินในความหมายแคบ (Narrow)
M1 = ธนบัตร + เหรียญกษาปณ์ + เงินฝากกระแสรายวัน
ปริมาณเงินในความหมายกว้าง (Broad Money)
M2 = M1 + เงินฝากออมทรัพย์ + เงินฝากประจำของประชาชน
M3 = M2 + เงินฝากประจำในสถาบันการเงินทุกประเภท + เงินฝากที่เป็นเงินตราต่างประเทศ + ตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทเงินทุน และ บริษัทหลักทรัพย์
สำหรับสหรัฐอเมริกาแล้ว สถานการณ์ทางการเงินของประเทศตอนนี้อยู่ในช่วง M2 แบบขยายตัว หมายความว่าปริมาณเงินที่เพิ่มเข้ามาในระบบมากขึ้นเรื่อยๆ อาจพาให้ประเทศกลับเข้าสู่วิกฤตการเงินอย่างที่เคยเกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี 2008 และ 2009 ได้ หากการเพิ่มเงินเข้ามาในระบบจะนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อจริง เมื่อนั้นราคาทองคำก็จะปรับตัวขึ้นเหมือนเดิมอย่างที่เคยสร้างจุดสูงสุดตลอดกาลในเวลานั้นได้ในปี 2009
3. การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โควิด-19 และตลาดแรงงาน
คำพูดของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ในสัปดาห์ที่แล้วค่อนข้างกำกวม ในตอนแรกเขาบอกให้นักลงทุนเลิกหวังว่าจะได้เห็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายในเร็ววัน แต่ก่อนจะสิ้นสุดคำพูด เขาก็กล่าวว่า “มีเหตุผลสนับสนุนหลายประการที่ทำให้เชื่อได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะกลับสู่จุดสูงสุดได้” บางทีสิ่งที่เจอโรม พาวเวลล์ พูดอาจจะหมายถึงความเร็วในการกระจายวัคซีนต้านโควิด-19
หากประธานเฟดคิดเช่นนั้นจริง เราก็อยากจะให้มาดูสถานการณ์ความเป็นจริงก่อนว่าตอนนี้หลายๆ แห่งอย่างกรุงนิวยอร์กหรือรัฐฟลอริด้าเริ่มประสบปัญหาวัคซีนขาดแคลนแล้ว ซึ่งหากผลิตไม่ทัน เราก็คงไม่มีทางได้เห็นภาพการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังอย่างที่หลายฝ่ายประเมินกันเอาไว้ เพราะตอนนี้โรงพยาบาลหลายแห่งไม่มีที่รองรับสำหรับผู้ป่วยโควิดอีกแล้ว หมายความว่ายอดผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นซึ่งในตอนนี้อเมริกาก็ยังครองแชมป์ประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อโควิดสูงที่สุดในโลกด้วยยอดผู้ติดเชื้อมากกว่า 23 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตรวมแล้วทั้งสิ้น 400,000 คน
ภาพรวมของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ตอนนี้ก็ถดถอยเฉพาะในเดือนมีนาคมและเมษายนปี 2020 มีชาวอเมริกันมากกว่า 21 ล้านคนต้องตกงาน จากการล็อกดาวน์เพื่อสู้กับโควิด แม้ว่าในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ตัวเลขการจ้างงานจะกลับมา 2.5 ล้าน - 4.8 ล้านคน แต่เมื่อหน้าหนาวมาถึง ตัวเลขการจ้างงานก็ชะลอตัวลงอีกครั้ง จำนวนคนมีงานทำที่เคยเพิ่มขึ้นในหลักล้านกลับลดลงมาเหลือต่ำกว่า 700,000 ตำแหน่งในเดือนกันยายนและตุลาคม ยิ่งตัวเลขการจ้างงานล่าสุดของเดือนธันวาคมนี้พบว่าตัวเลขการจ้างงานถึงขั้นติดลบ 140,000 ตำแหน่ง
จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้เราเชื่อว่าการว่างงานจะยังเพิ่มขึ้นต่อไป จากกรายงานผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในวันที่ 9 มกราคมพบว่ามีชาวอเมริกันยื่นขอรับสิทธิ์มากถึง 965,000 คน เพิ่มขึ้น 23% จากสัปดาห์ก่อนหน้านั้นและยังเป็นตัวเลขที่มากที่สุดในรอบ 5 เดือนล่าสุด
4. นโยบายการเงินจากเจเน็ต เยลเลน
เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าสหรัฐอเมริกาในยุคของโจ ไบเดนจะต้องมีการเพิ่มหนี้เข้าระบบเพิ่มอย่างแน่นอน เพราะล่าสุดนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังคนใหม่ของโจ ไบเดนพึ่งแถลงต่อสภาคองเกรสว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ $1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของอเมริกาในตอนนี้ แม้จะมีหนี้เพิ่มขึ้นแต่นั่นก็เป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขได้
การที่ไบเดนเลือกเจเน็ต เยลเลนมาเป็นขุนพลรับผิดชอบกระทรวงการคลังถือเป็นการตัดสินใจชาญฉลาดมาก นอกจากเธอจะได้รับความไว้วางใจในฐานะอดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ แล้ว เธอยังมีความเข้าใจดีว่าจะช่วยให้รัฐบาลสามารถอนุมัติเงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างไร ที่สำคัญการตัดสินใจใช้เงินของกระทรวงการคลังของเธอจะผ่านสภาได้ง่ายขึ้น เพราะการโหวตเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจำเป็นต้องมีเสียงส่วนใหญ่มากถึง 67 จาก 100 เสียงในสภาสูง การมีรัฐมนตรีกระทรวงการคลังที่เคยเป็นประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ มาก่อนจะช่วยโน้มน้าวความคิดของสมาชิกวุฒิสภาได้ง่ายขึ้น
สิ่งที่เจเน็ต เยลเลนแถลงต่อสภาคองเกรสเมื่อวันอังคารที่ผ่านมามีดังนี้
“ในฐานะผู้บริหารประเทศ เราควรชิงความได้เปรียบจากอัตราดอกเบี้ยต่ำในตอนนี้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเงินจำนวนมหาศาล ในระยะยาวฉันเชื่อว่าประเทศจะได้ประโยชน์จากเม็ดเงินที่ลงทุนไป เพราะถึงอย่างไรเสีย เงินจำนวนนี้ก็จะลงไปช่วยเหลือประชาชนชาวอเมริกันทุกคนที่กำลังผ่านช่วงเวลาที่โหดร้ายด้วยความยากลำบาก”