จากพฤติกรรมราคาในตลาดน้ำมันดิบตอนนี้ดูเหมือนว่าจะยังอยู่ในขาขึ้นต่อเนื่องเพราะนักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าอุปสงค์น้ำมันดิบในปี 2021 จะต้องดีขึ้นมากกว่านี้
อันที่จริงแล้วขาขึ้นในตลาดมีเหตุผลมากมายที่สามารถทำให้เชื่อได้ว่าราคาน้ำมันอาจกลับขึ้นไปอยู่ในที่ที่ควรจะอยู่ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็มีเรื่องที่นักลงทุนไม่ควรประมาทอยู่ ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่าในเดือนสุดท้ายก่อนโบกมือลาปีที่วุ่นวายที่สุดอย่าง 2020 ไป มีปัจจัยอะไรที่นักลงทุนในตลาดน้ำมันควรคำนึงถึง
ปัจจัยสนับสนุนตลาดน้ำมัน
1. ความคืบหน้าเกี่ยวกับวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19
แนวโน้มขาขึ้นที่เกิดในตลาดซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้า ณ ตอนนี้เกิดขึ้นจากข่าวดีที่มาจากความคืบหน้าการผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 อย่างเร็วที่สุดที่มนุษยชาติจะได้เห็นภาพการจำหน่ายวัคซีนจริงๆ อาจจะเกิดขึ้นในช่วงปลายไตรมาสที่ 1 ของปี 2021 นักลงทุนในตลาดน้ำมันฝากความหวังเอาไว้กับเรื่องนี้มากเหลือเกินเพราะพวกเขาหวังจะได้เห็นการท่องเที่ยว และการใช้งานที่สามารถกลับขึ้นไปอยู่ในช่วงเดียวกันกับก่อนโควิด-19 ระบาด
2. อุปสงค์น้ำมันจากผู้ซื้อในตลาดฝั่งเอเชีย
มีตัวเลขอ้างอิงการเติบโตของอุปสงค์น้ำมันที่สามารถเชื่อถือได้ในระดับหนึ่งว่าจะมีแรงซื้อเข้ามาในตลาดแน่นอนเมื่อประเทศจีนพึ่งประกาศจำนวนโควตาการส่งออกน้ำมันที่ผ่านการกลั่นรอบใหม่สำหรับช่วงเวลาที่เหลืออยู่ในปี 2020 เมื่อไม่นานมานี้
ที่ผ่านมาบริษัทผู้ผลิตน้ำมันในประเทศจีนต้องผลิตน้ำมันตามจำนวนโควตาที่รัฐบาลประกาศออกมาในช่วงเดือนกันยายน ส่งผลให้ยังมีปริมาณน้ำมันดิบคงคลังคงเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก และบริษัทผู้กลั่นน้ำมันก็ไม่อยากนำวัตถุดิบในส่วนนั้นออกมาใช้ แต่เมื่อมีการประกาศโควตารอบใหม่ที่เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตได้กลั่นน้ำมันมากขึ้นในช่วงฤดูหนาว บริษัทผู้ผลิตน้ำมันเหล่านี้จึงขานรับการเปลี่ยนแปลงนี้ และเริ่มกลับมาผลิตน้ำมันอีกครั้ง
3. การตัดสินใจเกี่ยวกับระยะเวลาการลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC+
การประชุมของกลุ่มโอเปกพลัสที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายนและวันที่ 1 ธันวาคมนี้จะต้องเป็นที่จับตามองสำหรับนักลงทุนในตลาดน้ำมัน และตลาดอื่นๆ เนื่องจากจะเป็นวันที่ทางกลุ่มผู้ผลิต และส่งออกน้ำมันจะตัดสินใจว่าจะเลื่อนเวลาการลดกำลังการผลิตน้ำมันออกไปอีกอย่างน้อย 3 เดือนนับตั้งแต่ 1 มกราคม 2021 ตามที่หลายๆ สำนักข่าวคาดการณ์หรือไม่
ปัจจัยเสี่ยงคุกคามต่อตลาดน้ำมัน
1. การปิดตัว และการหยุดดำเนินงานของโรงกลั่นน้ำมัน
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้บริษัทกลั่นน้ำมันหลายแห่งในยุโรปและสหรัฐอเมริกาไม่สามารถกลับมาดำเนินงานได้เต็มรูปแบบ หมายความว่ายังมีน้ำมันดิบอยู่ในตลาดอีกมากที่ยังไม่สามารถนำมาใช้งานได้
อ้างอิงจากสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า รอยัล ดัช เชลล์ (NYSE:RDSa) อาจหยุดการกลั่นน้ำมันมันปริมาณ 200,000 บาร์เรลต่อวันในคอนเวนต์ รัฐลุยเซียนาภายในสัปดาห์หน้า นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจาก Platts ที่ได้ออกมาเปิดเผยถึงรายชื่อของโรงกลั่นน้ำมันในยุโรปที่ลดระดับการผลิตน้ำมันลงมา บางแห่งต้องหยุดดำเนินงานชั่วคราวและบางแห่งถึงกับยกเลิกกิจการไปเลย เหตุผลของการปิดโรงงานมีหลายประการ เช่น กำไรที่หดตัวลงจนไม่คุ้มทุน อุปสงค์น้ำมันดิบที่ยังไม่แน่นอน และเทรนด์ของโลกที่กำลังเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น
2. การยืดเวลาลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกจะใช้เวลานานเพียงใด
มีความเป็นไปได้ที่การตัดสินใจของกลุ่มโอเปกพลัสในช่วงระหว่างวันจันทร์ และวันอังคารหน้าจะออกมาเป็นการยอมเลื่อนการลดกำลังการผลิตออกไปอีก 3 เดือนมากกว่าที่จะเป็น 6 เดือน หมายความว่าจะมีน้ำมันดิบมากกว่า 2 ล้านบาร์เรลต่อวันเข้ามาในตลาดภายในเดือนมีนาคมปี 2021 ปัจจัยนี้ยังรวมไปถึงความเสี่ยงที่สหรัฐฯ อาจเลือกผลิตน้ำมันต่อจากการขุดหินน้ำมันหากพวกเขาเห็นว่าอุปสงค์ภายในประเทศขึ้นไม่ถึงที่คาดการณ์ไว้
3. การท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดขอบคุณพระเจ้าที่เงียบเหงาที่สุด
การท่องเที่ยวที่หดตัวยังเป็นอุปสรรคหลักสำหรับความต้องการน้ำมันดิบ ในช่วงสุดสัปดาห์นี้เราจะได้เห็นอุปสงค์น้ำมันที่แท้จริงในสหรัฐฯ ว่าจะมีมากน้อยแค่ไหนเมื่อชาวอเมริกันถูกเตือนจากทางรัฐแล้วว่าให้งดการท่องเที่ยวในช่วงวันขอบคุณพระเจ้าเพื่อลดการแพร่ระบาด
ในปี 2019 การท่องเที่ยวของชาวอเมริกันในช่วงวันขอบคุณพระเจ้ามากที่สุดถึงขั้นบันทึกเป็นสถิติได้ พาดหัวข่าวส่วนใหญ่มีแต่ “นักท่องเที่ยวชาวงอเมริกันนับล้านต่างเดินทางไปเที่ยวในวันขอบคุณพระเจ้า” อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ประเมินว่าปีนี้พาดหัวข่าวอาจเปลี่ยนไปเป็นเหรียญคนละด้าน
AAA ประเมินว่าการท่องเที่ยวในวันหยุดขอบคุณพระเจ้าจะลดลง 5% โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยงทางอากาศจะหายไปประมาณ 50% ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นเป็นไปได้ว่าภาครัฐจะออกมาตรการเพิ่มเติมในช่วงวันหยุดนี้ด้วยหากเห็นว่าประชาชนเพิกเฉยต่อคำสั่งรัฐ
แม้จะมีความเป็นไปได้ที่นักลงทุนจะได้เห็นตัวเลขการใช้งานน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับหลายสัปดาห์ก่อน แต่จะไม่มีทางเพิ่มขึ้นมากกว่าการใช้งานในปี 2019 เพราะวันหยุดขอบคุณพระเจ้าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นปีละครั้ง ดังนั้นการประเมินจึงต้องประเมินแบบปีต่อปีไม่ใช่เดือนต่อเดือน
4. การท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดเทศกาลคริสต์มาส
สืบเนื่องต่อจากวันขอบคุณพระเจ้า ภาพรวมของการท่องเที่ยวในวันคริสต์มาสจะยิ่งประเมินได้ชัดเจนขึ้นเมื่อองค์กรต่างๆ ได้ข้อมูลการท่องเที่ยวมาจากวันหยุดขอบคุณพระเจ้านี้ จนถึงตอนนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าผู้คนในยุโรป และสหรัฐฯ จะเดินทางท่องเที่ยวอย่างไร
สถานการณ์ในยุโรปตอนนี้ยังคงอยู่ในช่วงล็อกดาวน์อยู่ เชื่อว่าตอนนี้รัฐบาลของหลายๆ ประเทศในยูโรโซนกำลังพยายามลดการติดเชื้อลงให้ได้มากที่สุดก่อนที่วันคริสต์มาสจะมาถึง พวกเขาจำเป็นต้องคลายมาตรการล็อกดาวน์ลงให้ได้ก่อนวันนั้นเพื่อลดความไม่พอใจของประชาชนลง แม้สหราชอาณาจักรประกาศจบมาตรการล็อกดาวน์แล้วภายในวันที่ 2 ธันวาคมนี้ แต่คำถามตัวใหญ่ๆ ที่ยังคงอยู่ก็คือต่อให้คลายล็อกดาวน์แล้ว ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นและกล้าเดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศอื่นมากน้อยแค่ไหน
5. อุปสรรคสำหรับการฟื้นตัวของการเดินทางด้วยเครื่องบิน
สมาคมขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ออกมาประเมินว่าสถานการณ์ของการเดินทางด้วยอากาศจะกลับมาเป็นปกติเหมือนในช่วงก่อนโควิดได้จะต้องใช้เวลาฟื้นฟูนานถึงปี 2024 พวกเขาประเมินว่าในปี 2021 จะเห็นนักท่องเที่ยวเดินทางอย่างน้อย 2,800 ล้านคนมากกว่าตัวเลขในปีนี้มากถึง 1,000 ล้านคน
ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ต้องกังวลเช่นความสามารถในการเข้าถึงวัคซีนของคนทุกชนชั้น และทัศนคติที่มีต่อการฉีดวัคซีน ผู้นำของสายการบินชื่อดังควอนตัสแอร์ไลน์ของออสเตรเลียบอกว่าพวกเขาจะมีมาตรการสอบถามผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศว่าเคยผ่านการฉีดวัคซีนต้านโควิดมาก่อนหรือไม่ ก่อนที่จะอนุญาตให้ใช้บริการของสายการบิน เขาเชื่อว่ารูปแบบนี้จะกลายเป็นมาตรการสากลสำหรับการบินต่อไปในอนาคต
จริงอยู่ที่การตรวจสอบนี้อาจสร้างความสบายใจให้กับผู้โดยสารแต่ในขณะเดียวกันมันก็จะกลายเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางที่ยังไม่คล่องตัวเหมือนกับในปี 2019