- แม้ตลาด NASDAQ จะสามารถสร้างจุดสูงสุดใหม่เป็นสัปดาห์ที่สองแต่ก็มีความเสี่ยงชะลอตัวตามดัชนีตัวอื่นๆ
- ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวขึ้นเช่นเดียวกันกับยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19
แม้ว่าตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐฯ จะเพิ่มสูงขึ้นจนสร้างตัวเลขเป็นสถิติใหม่อยู่ทุกวันจนหลายๆ รัฐต้องพิจารณาการกลับมาล็อกดาวน์กันใหม่แต่ตลาดหุ้นก็ยังสามารถปรับตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่องจากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมาดีและข่าวดีจากเงินเยียวยาทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันกลุ้มหุ้นที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดยังคงเป็นกลุ่มเทคโนโลยีโดยมีสาเหตุมาจากข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจอย่างดัชนี PMI ที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตจาก ISM เพิ่มสูงขึ้นมากที่สุดเป็นสถิตินับตั้งแต่ปี 1997 และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง
ตอนนี้ตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐฯ ที่ได้รับการยืนยันแล้วมีจำนวนมากกว่า 3.2 ล้านคน ยอดผู้เสียชีวิตเข้าใกล้ตัวเลข 135,000 รายและตัวเลขเหล่านี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะชะลอตัวลดลง
การฟื้นตัวแบบ V-Shape หรือการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงทางเศรษฐกิจแบบ V-Shape?
ถึงตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อโควิดในสหรัฐฯ จะน่ากลัวเพียงใดแต่ก็ยังมีคนคิดและเชื่ออยู่ว่าตัวเลขข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ช่วงนี้ออกมาดีขึ้นคือหลักฐานยืนยันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแบบ V-Shape แม้บางส่วนจะเริ่มสงสัยจริงๆ แล้วว่าเศรษฐกิจจะสามารถฟื้นตัวแบบรวดเร็วได้อย่างไรในขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่ากลัวเช่นนี้
ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนรักษาโควิด-19 ออกมาอย่างเป็นทางการและหลายๆ รัฐยังคงเปิดเมืองกันต่อไปเพราะต้องการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เราเชื่อว่าตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นและสร้างสถิติใหม่ไปเรื่อยๆ ปัญหาต่อไปที่จะตามมาก็คือโรงพยาบาลซึ่งอยู่ในพื้นที่แพร่ระบาดจะต้องเต็มจนล้นไปด้วยผู้ป่วยโควิดจนกดดันให้ภาครัฐต้องสั่งปิดเมืองอีกครั้งอย่างเลี่ยงไม่ได้ซึ่ีงแน่นอนว่าย่อมกระทบกับการฟื้นตัวของข้อมูลทางเศรษฐกิจ นี่ยังไม่นับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 ที่จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับตลาดลงทุน
สำหรับตอนนี้ดูเหมือนว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจจำเป็นจะต้องอัดเงินช่วยเหลือเข้ามาเพิ่มอีก จากการให้สัมภาษณ์ของประธานธนาคารกลางแห่งรัฐดัลลัสนายโรเบิร์ต แคปแลนได้ให้สัมภาษณ์กับช่อง “Fox Business” ว่าเขาต้องการงบประมาณช่วยเหลือเพิ่ม การให้สัมภาษณ์นี้เกิดขึ้น 2 วันหลังจากนางลอเรตต้า เมสเตอร์ประธานธนาคารกลางเมืองคลีฟแลนด์รัฐโอไฮโอได้ออกมาเตือนว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในพื้นที่ของเธอมีการชะลอตัว
ก่อนหน้านี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารสำหรับการลงทุนชื่อดังโกลด์แมน แซคส์ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ออกมาแล้ว IMF ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะหดตัว -4.9% ในขณะที่นักวิเคราะห์จากโกลด์แมน แซคส์ได้ปรับลดอัตราการเติบโตของประเทศที่ประเมินเอาไว้ -4.2% ลงมาเป็น -4.6%
แม้สถานการณ์จะเลวร้ายถึงเพียงไหนแต่นักลงทุนผู้มองโลกในแง่ดีกลับไม่เคยหมดสิ้นความหวัง เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาดัชนีหลักๆ ทั้ง 4 อย่างดาวโจนส์, S&P 500, Russell 2000 และ NASDAQ ยังสามารถปิดบวกได้ด้วยความหวังจากข่าวความคืบหน้าวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19
บริษัท Gilead Sciences (NASDAQ:GILD) ได้ออกมาประกาศว่ายา “remdesivir” สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโควิดลงได้มากถึง 62% แม้ว่าหุ้นของบริษัทจะเพิ่มขึ้น 2% ทันทีที่มีการประกาศแต่ยาตัวนี้ของบริษัทก็ยังต้องผ่านขั้นตอนการทดสอบอีกมากมายและยังต้องผ่านเส้นทางอีกยาวไกลกว่าจะสามารถไปถึงขั้นตอนที่สามารถแจกจ่ายให้กับโลกภายนอกได้
ถึงแม้ว่าวันศุกร์ที่แล้ว NASDAQ จะทำผลงานได้ต่ำกว่ามาตรฐานไปบ้างเป็นครั้งแรกในรอบ 2 สัปดาห์แต่ดัชนี NASDAQ โดยรวมก็ยังสามารถปรับตัวขึ้นสร้างจุดสูงสุดใหม่ตลาดกาลเป็นสถิติใหม่ได้อย่างไม่มีปัญหา
เมื่อวิเคราะห์ดัชนี NASDAQ ด้วยการวิเคราะห์ทางเทคนิคแล้วพบว่าแก็ป (gap) ขาขึ้นของแท่งเทียนแท่งล่าสุดอยู่ในสถานะที่ไม่น่าไว้วางใจ ตัวกราฟกับอินดิเคเตอร์มีการทำไดเวอร์เจนต์กันเกิดขึ้น ในขณะที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นแต่อินดิเคเตอร์อย่าง ROC เส้น AD และแท่งวอลลุ่มต่างพากันชี้ว่าดัชนีจะปรับตัวลดลงซึ่งทำให้เราคิดว่ามีความเป็นไปได้ที่แท่งเทียนแท่งล่าสุดเมื่อวันศุกร์อาจจะเป็นแท่งที่ส่งสัญญาณเป็นขาลง
แม้ว่าตลาดหุ้นจะปรับตัวสูงขึ้นมาตั้งแต่จุดต่ำสุดเมื่อเดือนมีนาคม ดัชนี S&P 500 สร้างผลงานไตรมาสที่ดีที่สุดในรอบ 22 ปีเช่นเดียวกันกับดัชนีดาวโจนส์ที่วิ่งขึ้นได้ดีที่สุดในไตรมาสนับตั้งแต่ปี 1987 แต่ดัชนีวัดความผันผวน (VIX) ก็ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงเวลาก่อนโควิด-19 มากถึง 3 เท่าอยู่ดี
ในทางกลับกันกราฟราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีกลับอยู่ต่ำกว่าระดับราคาที่เคยเป็นในช่วงก่อนโควิดมากถึง 1.5% และวิ่งวนเวียนอยู่ใกล้กับจุดต่ำสุดตลอดกาล
ในทางเทคนิคแล้วกราฟพันธบัตรฯ อายุ 10 ปีอาจจะสร้างรูปแบบหัวไหล่ (Head & Shoulder) แบบไปต่อของขาลงเสร็จแล้ว เป็นไปได้ว่ากราฟอาจลงไปหาจุดต่ำสุดตลอดกาลเมื่อวันที่ 9 มีนาคมอีกครั้ง
กราฟดัชนีดอลลาร์สหรัฐปรับตัดลงต่ำกว่ากรอบราคารูปธงได้สำเร็จเป็นการยืนยันการมุ่งหน้าลงต่อของดัชนี ในส่วนของการวิเคราะห์ทางเทคนิคพบว่าเส้นค่าเฉลี่ย 50 DMA ได้ตัดผ่านเส้นค่าเฉลี่ย 200 DMA ลงเป็นที่เรียบร้อยแล้วและอินดิเคเตอร์ทั้ง RSI และ MACD ก็ส่งสัญญาณลงด้วยเช่นกัน
ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 5 ติดต่อกันและถือเป็นขาขึ้นที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2011
อันที่จริงแล้วเราค่อนข้างมั่นใจว่าราคาทองคำจะขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 เมษายนหลังจากที่ราคาสร้างรูปแบบหัวไหล่ของขาขึ้นได้สำเร็จ อย่างไรก็ตามเมื่อวันศุกร์ราคาทองคำได้ปรากฎแท่งเทียนรูปบบดาวตก (shooting star) เกิดขึ้นในกราฟรายสัปดาห์จึงเป็นไปได้ว่าเราอาจจะได้เห็นราคาทองคำย่อตัวลงลึกกว่าเดิมในสัปดาห์นี้ อินดิเคเตอร์ทั้งหลายก็เริ่มส่งสัญญาณขาขึ้นอิ่มตัวแล้วเช่นกัน
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบสามารถดีดตัวกลับขึ้นมายืนเหนือ $40 ได้อีกครั้งหลังจากที่ลงไปชนกับเส้นเทรนด์ไลน์ขาขึ้นซึ่งลากมาตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม
แม้ว่าราคาน้ำมันดิบ WTI จะยังสามารถดีดตัวกลับขึ้นไปได้แต่ก็ยังไม่สามารถผ่านโซนแนวต้านสุดแข็งแกร่งที่อยู่เหนือ $42 ขึ้นไปได้อยู่ดี ที่สำคัญอินดิเคเตอร์อย่าง RSI และ MACD ก็ส่งสัญญาณว่ายังอิ่มตัวกับขาขึ้นที่เป็นอยู่ นี่คือสัญญาณบ่งบอกเลยว่านักลงทุนในตลาดน้ำมันยังไม่เชื่อว่าราคาน้ำมันดิบจะไม่สามารถกลับไปเป็นอย่างเดิมได้ตราบใดที่ความกังวลเกี่ยวกับการกลับมาปิดเมืองยังคงอยู่และเครื่องบินของสหรัฐฯ ยังไม่สามารถกลับไปบินกันเต็มท้องฟ้าได้อย่างเคย
ข่าวเศรษฐกิจสำคัญในสัปดาห์นี้ (เวลาทั้งหมดคำนวณเป็น EDT)
วันอังคาร
02:00 (สหราชอาณาจักร) รายงานจำนวนคนว่างงานที่ใช้สิทธประโยชน์จากการว่างงาน: คาดว่าจะลดลงจาก 528.9K เป็น 400.0K
02:00 (สหราชอาณาจักร) รายงานตัวเลข GDP: คาดว่าตัวเลขแบบไตรมาสต่อไตรมาสจะเพิ่มขึ้นจาก -20.4% ของครั้งก่อนเป็น 5.0%
02:00 (สหราชอาณาจักร) รายงานตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรม: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก -24.3% เป็น 8.0%
05:00 (เยอรมัน) ดัชนีวัดบรรยากาศทางธุรกิจโดย ZEW: คาดว่าจะลดลงจาก 63.4 เป็น 60.0
08:30 (สหรัฐฯ) ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI): คาดว่าตัวเลขในเดือนมิถุนายนจะเพิ่มขึ้นจาก -0.1% เป็น 0.1%
08:52 (ประเทศจีน) รายงานตัวเลขภาคการส่งออกแบบปีต่อปี: คาดว่าตัวเลขในเดือนมิถุนายนจะดีขึ้นจาก -3.3% เป็น -1.5%
วันพุธ
02:00 (สหราชอาณาจักร) ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI): คาดว่าจะคงที่ 0.5%
08:30 (สหรัฐฯ) ดัชนีภาคการผลิตของเอ็มไพร์ สเตต: คาดว่าจะดีขึ้นจาก -0.20 เป็น 9.25
10:00 (แคนาดา) ผลการตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางแคนาดา (BoC): คาดว่าจะคงที่ 0.25%
10:30 (สหรัฐฯ) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง: คาดว่าจะลดลงจาก 5.654M เป็น -3.114M
21:30 (ออสเตรเลีย) รายงานตัวเลขอัตราการว่างงาน: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก -227.7K เป็น 112.5K
22:00 (ประเทศจีน) รายงานตัวเลข GDP: คาดว่าตัวเลขแบบปีต่อปีจะเพิ่มขึ้นจาก -6.8% เป็น 2.1%
22:00 (ประเทศจีน) รายงานตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรม: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 4.4% เป็น 4.7%
วันพฤหัสบดี
07:45 (ยูโรโซน) ผลการตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป (ECB): คาดว่าจะคงที่ 0.00%
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขยอดขายปลีกพื้นฐาน: คาดว่าจะลดลงจาก 12.4% เป็น 5.0%
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก: คาดว่าจะลดลงอีกจาก 1.314 ล้านคนเป็น 1.250 ล้านคน
08:30 (สหรัฐฯ) ดัชนีภาคการผลิตโดยธนาคารกลางรัฐฟิลาเดเฟีย: คาดว่าจะลดลงจาก 27.5 เป็น 20.0
08:30 (สหรัฐฯ) ตัวเลขยอดขายปลีก: คาดว่าจะลดลงจาก 17.7% เป็น 5.0%
08:30 (ยูโรโซน) แถลงการณ์จาก ECB
วันศุกร์
05:30 (ยูโรโซน) ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) คาดว่าตัวเลขแบบปีต่อปีจะคงที่ 0.3% แต่ตัวเลขแบบเดือนต่อเดือนจะเพิ่มขึ้นจาก -0.1% เป็น 0.3%
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานจำนวนการอนุญาตก่อสร้าง: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 1.216M เป็น 1.280M