ภาพรวมตลาดฟอเร็กซ์รายวัน: 04 มีนาคม 2020
โดยคุณเคธี่ เหลียน กรรมการผู้จัดการวางกลยุทธ์การลงทุนในตลาดฟอเร็กซ์ของบริษัทจัดการสินทรัพย์บีเค
การประชุม G7 ถูกแย่งซีนไปด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย 50 จุดเบสิสฉุกเฉินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ถือเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยอย่างไม่บอกกล่าวครั้งแรกของเฟดนับตั้งแต่วิกฤติทางการเงินในปี 2008 ในขณะที่ผลการประชุม G7 ไม่ได้ผิดไปจากที่นักลงทุนคาดการณ์เท่าไหร่ พวกเขาพูดถึงเพียงว่าทางกลุ่มมีมาตรการมีเครื่องมือเยียวยาที่พร้อมดำเนินการได้ทุกเมื่อซึ่ง G7 ไม่ได้บอกออกมาตรงๆ ว่าพวกเขามีแผนจะดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนอย่างไรบ้าง
การเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสหรัฐฯ ครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าธนาคารกลางฯ ไม่ได้เป็นห่วงเฉพาะเศรษฐกิจที่โดนไวรัสโคโรนาเข้ามากระทบแต่ยังเป็นห่วงสถานการณ์ในตลาดหุ้นอีกด้วย นายเจอโรม พาวเวลล์ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ กล่าวหลังจากตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินว่า “ไวรัสโคโรนาได้เข้ามาแทรกแซงระบบเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศและดูเหมือนว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหลายจะต้องอยู่ร่วมกับไวรัสโคโรนาไปอีกสักระยะ” วงกว้างของผลกระทบจากไวรัสโคโรนายังไม่สามารถสรุปออกมาเป็นภาพอย่างชัดเจนได้ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจขนาดใหญ่จึงทำให้เฟดตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจเอาไว้ก่อน
นายเจอโรม พาวเวลล์ยังกล่าวเสริมอีกว่าเขาเชื่อมั่นในมาตรการจากการประชุม G7 จะยังเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจไว้และการลดอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารกลางฯ ของอีกหลายๆ ประเทศกำลังจะตามมา เฟดยังทิ้งท้ายไว้อีกว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกถ้าตลาดหุ้นยังคงไม่สามารถฟื้นตัวกลับคืนมาได้หรือภาพรวมทางเศรษฐกิจแย่ลงไปกว่านี้
สกุลเงินดอลลาร์ขานรับต่อการตัดสินใจของเฟดในทันที กราฟยูโรเทียบดอลลาร์ ดอลลาร์เทียบเยนและคู่สกุลเงินอื่นๆ ที่จับคู่กับดอลลาร์ปรับตัวลดลง การขยับตัวครั้งนี้ของสกุลเงินดอลลาร์เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์แม้ว่าจะช๊อคเล็กน้อยที่ตัดสินใจลดลงมากถึง 50 จุดเบสิส ทันทีที่มีการประกาศตลาดหุ้นก็ปรับตัวสูงขึ้นแต่เมื่อเข้าใกล้ช่วงตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ปิดดัชนีดาวโจนส์ก็ร่วงลงมากกว่า 800 จุดอีกครั้ง
เพราะปัญหาจริงๆ อยู่ที่การลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางฯ ไม่ได้ช่วยให้ไวรัสโคโรนาหายไปจากโลกนี้ แม้ว่าการกระทำของเฟดอาจช่วยบรรเทาทุกข์ของนักลงทุนได้บ้าง แต่พวกเขาก็รู้ดีว่านี่เป็นการแก้สถานการณ์เฉพาะหน้าไปอย่างนั้น นักลงทุนบางคนคาดหวังไปถึงการตัดสินใจของธนาคารกลางในเดือนเมษายนแล้ว ในขณะที่บางคนมองข้ามการประชุมเพื่อลดอัตราดอกเบี้ยตามตารางของเฟดในวันที่ 18 มีนาคมนี้ไปเลยด้วยซ้ำ คำถามสำหรับนักลงทุนในตอนนี้คือ “รายต่อไปที่จะลดอัตราดอกเบี้ยคือใคร?”
เมื่อวานนี้ก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉิน ออสเตรเลียได้ประเดิมการลดอัตราดอกเบี้ยไปก่อนแล้ว 25 จุดเบสิส การตัดสินใจของธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) นั้นไม่เหมือนกับเฟด RBA ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยเพราะพวกเขาทราบดีว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจจะส่งผลมหาศาลต่อตัวเลขการเติบโตของ GDP ในไตรมาสนี้มากแค่ไหนในขณะที่เฟดตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อตัดไฟเสียแต่ต้นลม ถึงกระนั้นพวกเขาทั้งคู่ก็พร้อมที่จะลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม
ธนาคารกลางแห่งแคนาดา (BoC) คือรายถัดไปที่จะต้องจับตาดูซึ่งพวกเขามีประกาศนโยบายทางการเงินในคืนวันนี้ จากข้อมูลในตารางด้านล่างจะเห็นได้ว่าอันที่จริงแล้วตัวเลขไม่ได้ดูแย่เท่าไหร่นักแต่ตลาดได้ตัดสินใจล่วงหน้าแทนธนาคารกลางฯ ไปแล้วด้วยการหั่นตัวเลขบางรายการลง ทีนี้ก็ต้องมารอดูกันว่านายสตีเฟ่น โปลอซ (Stephen Poloz) ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งแคนาดาจะยึดตามข้อมูลตัวเลขนี้ได้มากน้อยแค่ไหน ราคาน้ำมันดิบและตลาดหุ้นแคนาดาร่วงลงอย่างรวดเร็ว ในเวลานี้ธนาคารกลางแคนาดาอาจไม่มีทางเลือกมากนักในการช่วยพยุงเศรษฐกิจฯ และคงจะเป็นความผิดพลาดอย่างมหาศาลหากพวกเขาเลือกที่จะไม่สนใจข้อมูลตัวเลขในตารางนี้
ธนาคารกลางในประเทศอย่างญี่ปุ่นและอังกฤษออกมาแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนแล้วว่าพวกเขาพร้อมที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะที่ธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป (ECB) ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ นักลงทุนบางคนเชื่อไปแล้วว่ามีโอกาสสูงเกิน 90% ที่ตัวเลขอัตราดอกเบี้ยจะเข้าสู่แดนลบหากธนาคารกลางเหล่านี้ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยขึ้นมา ในตอนนี้ธนาคารกลางมีทางเลือกไม่มากและก็ไม่สามารถปล่อยให้เศรษฐกิจจมลงสู่ก้นเหลวโดยไม่ทำอะไรได้ จากการตัดสินใจของเฟดและการปรับตัวลงของดัชนีดาวโจนส์ก่อนปิดตลาดเชื่อว่าตลาดหุ้นและดอลลาร์สหรัฐจะยังไม่ฟื้นขึ้นมาง่ายๆ กราฟ USD/JPY มีโอกาสลงไปถึงระดับราคา 107