-
มาตรการทางภาษีครั้งใหม่ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีอิทธิพลกับตลาดเหนือกว่าธนาคารกลาง
-
ดัชนีหลักในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ยังคงปรับตัวลดลง
-
เงินเยนเริ่มเข้าใกล้จุดสูงสุดในรอบสามปี และทองคำก็ปรับตัวขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2013 เป็นต้นมา
ความเสี่ยงด้านสงครามทางการค้าที่เพิ่มขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาทำให้ตลาดเกิดความผันผวนและมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นขาลงในช่วงสัปดาห์นี้ และโอกาสที่จะสามารถกลับตัวขึ้นได้ก็มีน้อยลงด้วย แม้ว่าเฟดจะเสนอมาตรการช่วยเหลือออกมาก็ตาม ตลาดหุ้น ตราสารหนี้ และค่าเงิน ดอลลาร์ ตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมาต่างก็ยังร่วงลงต่อไป ส่วนพันธบัตร ทองคำ และ เงินเยน ปรับตัวได้สูงขึ้น
จีนได้แถลงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่าจะเรียกเก็บภาษีกับสินค้าของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอีก 75,000 ล้านเหรียญส่งผลอย่างมากกับตลาด ทำให้ดัชนีหลักทั้งสี่ตัวของตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐฯ เปิดตลาดได้ต่ำลง เห็นได้ชัดว่าช่วงเวลาที่จีนแถลงการณ์ดังกล่าวออกมาเพื่อโต้ตอบสหรัฐฯ ในครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนหน้าที่นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดจะออกมาแสดงความคิดเห็นที่เมืองแจ็คสันโฮลเพียงไม่กี่นาที ซึ่งถือว่ามีการวางแผนมาอย่างดีและมีประสิทธิภาพมาก
นายพาวเวลล์ต้องการที่จะคงสถานะเดิมไว้ ส่วนทวีตของทรัมป์ก็เป็นเร่งความผันผวน
ในช่วงที่นายพาวเวลล์ออกมาแสดงความคิดเห็นนั้น เขาค่อนข้างเดินเกมอย่างปลอดภัยโดยกล่าวว่า “เราจะดำเนินการตามที่เหมาะสมเพื่อให้สภาพเศรฐกิจขยายตัวต่อเนื่องต่อไปได้” แต่ก็ไม่ได้มีความเห็นที่ชัดเจนว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีกหรือไม่ และยังกล่าวด้วยว่าเรื่องสงครามการค้านั้นไม่ได้มีตำราให้ทำตามได้
แม้ว่านายพาวเวลล์จะยืนยันว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังอยู่ในภาวะที่ดี แต่ก็ยังมี "ความเสี่ยงสำคัญ" บางอย่างซึ่งอาจทำให้ต้องมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในเดือนหน้านี้ แต่เขาก็ไม่ได้เปิดเผยว่าอัตราดอกเบี้ยที่ว่านั้นจะอยู่ที่เท่าใด
ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นได้เล็กน้อยในช่วงที่นายพาวเวลล์กำลังขึ้นแสดงความคิดเห็น โดยตลาดยังมีความเชื่อมั่นว่าจะมีการ ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ในปีนี้ลงอีกสองถึงสามครั้ง แสดงให้เห็นว่าวิธีการที่เขาใช้ยังสามารถควบคุมสถานการณ์และสมดุลของตลาดได้
แต่เหตุการณ์ดังกล่าวก็คงอยู่ได้เพียงไม่นาน เนื่องจากการแถลงของนายพาวเวลล์ไม่เป็นที่พอใจของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์เท่าใดนัก ประธานาธิบดีจึงกระหน่ำทวีตข้อความและทำให้ตลาดต้องดิ่งลงไปได้ในที่สุด
ในทวีตแรกของเขาเขียนว่า “คำถามเดียวของผมในตอนนี้ก็คือ ใครเป็นศัตรูของเรากันแน่ระหว่าง เจย์ พาวเวลล์กับประธานาธิบดีสี?” หลังจากนั้นอีกเพียงสองนาทีก็มีอีกข้อความที่สั่งให้บริษัทต่างๆ ในอเมริกา “หาแนวทางสำรองอื่นเพื่อใช้แทนจีน” หลังจากนั้นเพียงไม่ถึงชั่วโมง ทั้งดัชนี S&P 500 และ ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ต่างก็ร่วงลงไป 1.7% ดัชนี Russell 2000 ปรับลดลงไป 2.07% และดัชนี NASDAQ คอมโพสิต ก็ร่วงไป 2.37% ด้วยเช่นกัน
ในวันนั้น ดัชนี S&P 500 ปิดตลาดลดลง 2.59% โดยหุ้นทุกกลุ่มคงอยู่ในแดนลบทั้งหมด กลุ่ม สาธารณูปโภค ซึ่งปรับลง -1.05% ยังเป็นกลุ่มที่ทำผลงานได้ดีที่สุด ส่วนกลุ่ม เทคโนโลยี ซึ่งเป็นหุ้นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดในเรื่องสงครามการค้าปรับลดลงแซงหน้ากลุ่มอื่นถึง -3.31% โดยหุ้นของ Apple (NASDAQ:NASDAQ:AAPL) ปรับลดลงไป 4.6%
เมื่อพิจารณาทั้งสัปดาห์ ดัชนี S&P 500 ปรับตัวลงไป 1.44% โดยแทบทุกกลุ่มมีการปรับลดลง โดยมีเพียง 2 กลุ่มที่สามารถปรับตัวขึ้นได้คือหุ้นในกลุ่ม สินค้าฟุ่มเฟือย และสาธารณูปโภคปรับตัวขึ้น +0.52% และ +0.16% ตามลำดับ ส่วนในกลุ่ม วัสดุก่อสร้าง กลุ่มที่อ่อนไหวกับการส่งออกยังทำผลงานได้แย่ลง โดยปรับตัวลงไป -2.95%
กราฟรายวันของดัชนี S&P 500
กราฟดัชนี S&P ทำให้เห็นว่าราคาเริ่มมีการทะลุแนวต้านของเส้นแนวโน้มขาขึ้นที่ลากมาจากจุดต่ำสุดของเดือนธันวาคม รวมทั้งจุดสูงสุดของธงขาขึ้น (สีดำ) และจุดสูงสุดของชายธง (สีแดง) หรืออีกนัยหนึ่งก็คือดัชนีได้ทะลุชายธงด้านล่างออกไปและทำให้รูปแบบเกิดขึ้นสมบูรณ์แล้ว แต่เนื่องจากทะลุไปได้เพียงไม่มาก และในช่วงการซื้อขายระหว่างวันที่ทะลุลงไปได้เช่นกัน เราจึงขอเรียกชายธงที่อยู่ต่ำกว่าจุดต่ำสุดในวันที่ 5 สิงหาคมว่าจุดต่ำสุดขั้นต่ำ หากว่าดัชนีไม่ลงไปต่ำกว่าระดับ 2,800 ซึ่งมีแนวเส้น 200 DMA กั้นอยู่
กราฟรายวันของดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐฯ รุ่นอายุ 10 ปี
ด้านตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ซึ่งมักใช้เป็นตัวชี้วัดสภาพเศรษฐกิจถดถอยนั้น ความห่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรุ่นอายุ 2 ปี และ 10 ปี เริ่มเกิดรูปแบบ Inversion อีกครั้ง ส่วนอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรุ่นอายุ 3 เดือน เทียบกับรุ่นอายุ 10 ปี ก็เกิดรูปแบบ Inversion หนักที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2007 เป็นต้นมา
ดอกเบี้ยพันธบัตรรุ่นอายุ 10 ปี ลดลงไปอยู่ที่ 1.533 ซึ่งนับว่าต่ำที่สุด หากไม่นับรวมวันที่ 5 สิงหาคมซึ่งเคยลงไปถึงระดับ 1.502 ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2016 เป็นต้นมา ปัจจุบันหลักทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูงเช่นนี้ได้รับความนิยมสูงมาก ซึ่งเป็นหลักฐานอีกอย่างหนึ่งที่ชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังจะเข้าสู่ช่วงถดถอย การผลิตในภาคอุตสาหกรรม ของสหรัฐฯ เริ่มชะลอตัวลงแล้วและเริ่มมีการปรับตัวเลขที่คาดการณ์สำหรับการเติบโตด้าน การจ้างงาน ลงอย่างมากด้วยเช่นกัน
เมื่อพิจารณาข้อมูลทางเทคนิคจะพบว่า ดอกเบี้ยพันธบัตรรุ่นอายุ 10 ปีน่าจะทะลุแนวรับและทำรูปแบบธงขาลงไปได้เรียบร้อยแล้ว นับว่าเป็นการปรับลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่สี่ติดต่อกันและยังจะลดลงไปอีก เช่นเดียวกับรูปแบบขาลงของดัชนี S&P 500 ที่แสดงให้เห็นว่าแรงอุปทานยังมีมากกว่าอุปสงค์ในระยะกลางอยู่
ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวลดลง 0.54% เป็นวันที่สองซึ่งนับว่าเป็นราคาปิดต่ำที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคมเป็นต้นมา หลังจากที่ทรัมป์กล่าวว่า “เรามีเงินดอลลาร์ที่แข็งแกร่งมาก แต่ก็มีเฟดที่อ่อนแอมากด้วย”
ราคารายสัปดาห์ของ USDJPY ในช่วงปี 2016-2019
คู่สกุลเงินดอลลาร์-เยนปรับลดลงไป 0.97% เป็นวันที่สองไปอยู่ที่ระดับเพียง 0.1% ของราคาปิดในวันที่ 12 สิงหาคมซึ่งนับเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคมเป็นต้นมา ราคาปิดที่ระดับ 104.74 เป็นราคาต่ำสุดของสกุลเงินคู่นี้นับตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2016 เป็นต้นมาเลยทีเดียว
กราฟรายเดือนของ XAU/USD ในช่วงปี 2010-2019
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทองคำปรับตัวขึ้นได้ 1.87% และปิดตลาดวันสุดท้ายของสัปดาห์ได้ที่ระดับ $1,536.75 ถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2013 เป็นต้นมา
น้ำมัน ยังร่วงติดต่อกันเป็นวันที่สาม เนื่องจากมีการคาดการณ์กันว่าจะมีความต้องการน้อยลงในช่วงที่เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวจากภาวะสงครามการค้า เมื่อพิจารณาข้อมูลทางเทคนิคจะเห็นว่าน้ำมันยังมีการซื้อขายกันอยู่ในกรอบราคาขาลง
ไม่เฉพาะสงครามทางการค้าที่ยังตึงเครียดแต่เพียงอย่างเดียวที่ส่งผลกระทบกับราคาน้ำมัน ใน ช่วงเริ่มต้น การประชุม G7 เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ณ เมืองเบียร์ริทส์ ประเทศฝรั่งเศส เจ้าหน้าที่จากรัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวหาว่าฝรั่งเศสจงใจทำให้สหรัฐฯ ต้องอับอายด้วยการเพิกเฉยต่อข้อมูลที่ได้รับและให้ความสำคัญกับประเด็นยิบย่อยเพื่อขอแรงในการช่วยเหลือและสนับสนุนประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครงในประเทศของตน ปัญหาดังกล่าวอาจพัฒนาขึ้นเป็นปัญหาระดับนานาชาติที่อาจเพิ่มความตึงเครียดในฝั่งยุโรปได้ แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าประเด็นในเรื่องนี้จะส่งผลกระทบกับตลาดในสัปดาห์นี้มากน้อยเพียงใด
อย่างไรก็ตาม ตลาดน่าจะยังจับตามองไปที่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่กำลังเดือดพล่านอีกครั้งอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทรัมป์จะเริ่มเอาจริงเช่นนี้ ในความเป็นจริงก็ดูเป็นการยากที่ทั้งสองประเทศจะยอมอ่อนข้อให้กันโดยไม่เสียหน้า เนื่องจากทั้งคู่ต่างก็เป็นประเทศที่มีอิทธิพลอย่างมากกับทั่วโลกด้วยกันทั้งสองฝ่าย