โดย Kathy Lien กรรมการผู้จัดการด้านกลยุทธ์ฟอเร็กซ์จาก BK Asset Management
ภาพรวมตลาดฟอเร็กซ์ประจำวันที่ 22 สิงหาคม 2019
ในช่วงนี้แทบไม่มีใครสนใจที่จะซื้อเงิน ยูโร เลยเนื่องจากยังกังวลกับสถานการณ์ทางการเมืองในอิตาลีและสภาพเศรษฐกิจของเยอรมนีที่อาจเกิดภาวะถดถอย รวมไปถึงการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรปจะนำมาตรการผ่อนคลายทางการเงินมาใช้เพิ่มเติม และยังมีเรื่องความเสี่ยงที่สหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมจากจีนอีก สัปดาห์นี้มีการลาออกของนายคอนเต นายกรัฐมนตรีของอิตาลี ทำให้วิกฤติที่มีอยู่เดิมในประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสามของยูโรโซนอย่างอิตาลีต้องกลายเป็นความโกลาหล แต่ปัญหาทางการเมืองของอิตาลีนั้นถือว่าส่งผลกระทบกับค่าเงินยูโรไม่มากนัก ยุโรปรู้ดีถึงปัญหาการเมืองของอิตาลี (ซึ่งได้มีการเลือกตั้งไปเมื่อปี 2018 และยากที่จะลืมเรื่องอื้อฉาวจนนับไม่ถ้วนของนายแบร์ลุสโคนีได้) วิกฤตินี้จึงเริ่มมีมานานพอสมควรแล้ว ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลของอิตาลีแทนที่จะปรับสูงขึ้นก็กลับดิ่งลงเพราะนักลงทุนคาดหวังว่ารัฐบาลใหม่จะทำงานได้ดีกว่าเดิม การเจรจาเพื่อหาเสียงข้างมากในรัฐสภาก็ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วและหวังว่าจะเป็นการปูทางให้กับนายมัตเตโอ ซาลวินี ตัวเต็งอันดับหนึ่งขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอิลาตีได้อย่างราบรื่น
ส่วนเยอรมนีนั้น ภาวะเศรษฐกิจถดถอยถือว่าเป็นความเสี่ยงใหญ่ที่สุดสำหรับตอนนี้ จากข้อมูลของธนาคารกลางเยอรมนี (Bundesbank) ชี้ว่าเมื่อพิจารณาข้อมูลด้านเทคนิคพบว่ามีโอกาสในการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้สูงมากในช่วงไตรมาสที่สาม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางเยอรมนีได้คาดการณ์ตัวเลขจีดีพี ไว้ว่า “อาจมีการปรับลดลงเล็กน้อย” อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมาค่อนข้างต่ำ โดยมีการเติบโตเพียงไตรมาสเดียว จากทั้งหมด 4 ไตรมาส ปัญหาของเยอรมนีไม่เหมือนกับอิตาลีเพราะปัญหาเศรษฐกิจของเยอรมนีถือเป็นปัญหาร้ายแรงสำหรับยูโรโซนเนื่องจากเป็นประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคนี้ หากเศรษฐกิจของเยอรมนีเกิดปัญหาก็จะส่งผลกับทั้งทวีปได้ ถึงแม้ว่าเราจะเห็นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าดัชนี PMI ของเยอรมนีและยูโรโซนในเดือนสิงหาคมมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้ธนาคารกลางยุโรปเปลี่ยนใจไม่ใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินได้ ตัวเลขการผลิตในภาคอุตสาหกรรม และ ความเชื่อมั่นของนักลงทุน ก็ยังไม่สู้ดีนัก จึงเป็นไปได้มากว่าดัชนี ความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจ จาก IFO ของเยอรมนีก็จะลดลงด้วยเช่นกัน ยอดขายรถยนต์ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากความกังวลในเรื่องการใช้มาตรการทางภาษีเพิ่มเติมประกอบกับความไม่แน่นอนในเรื่อง Brexit เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐฯ เรียกร้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการค้าระงับการใช้มาตรการทางภาษีกับสินค้าประเภทน้ำมันมะกอกจากยุโรป และในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้รัฐบาลของทรัมป์จะพิจารณาอีกครั้งว่าจะเรียกเก็บภาษีกับสินค้าประเภทรถยนต์จากยุโรปหรือไม่ จากปัจจัยเสี่ยงทั้งหมดดังที่กล่าวมาข้างต้นทำให้ธนาคารกลางยุโรปไม่มีทางเลือกอื่นนอกเสียจากจะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือนหน้า ซึ่งอาจเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ที่เหนือความคาดหมายก็เป็นได้ ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ EUR/USD ก็จะได้รับแรงกดดันให้ลงไปอยู่ต่ำกว่าระดับ 1.1050 ได้อย่างง่ายดาย
ในขณะเดียวกันธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็เริ่มเปลี่ยนท่าที โดยอาจไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก จาก รายงานการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายทางการเงิน จะเห็นได้ว่าคณะกรรมการส่วนใหญ่ของเฟดคิดว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคมเป็นการปรับในรอบระยะกลางและไม่ใช่จุดเริ่มต้นของการปรับลดเพิ่มเติมอีกในอนาคต นับจากนั้นเป็นต้นมาคณะกรรมการอย่างเมสเตอร์ โรเซนเกรน จอร์จ เดลี และฮาร์เคอร์ก็ได้ให้ความเห็นว่าพวกเขาอาจจะไม่สนับสนุนให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นายโรเซนเกรนกล่าวว่าสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในขณะนี้ถือว่าอยู่ในจุดที่ดีแล้ว และไม่จำเป็นต้องทำอะไรเพิ่มเติมอีกถ้าทุกอย่างยังเป็นไปตามที่คาดไว้ เขาย้ำด้วยว่าเฟดไม่จำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียงเพราะเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ กำลังชะลอตัว และเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นางเดลี ผู้ว่าการธนาคารอีกคนหนึ่งกล่าวว่าเธอสนับสนุนให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคม แต่ก็ยังเห็นว่าตลาดแรงงานและการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงอยู่ในระดับที่ดี ซึ่งก็สอดคล้องกับความคิดเห็นของนางจอร์จว่าหากไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจชะลอตัวก็ยังไม่น่าจะต้องปรับลดเพิ่มเติมอีก เธอมีความคิดเห็นเช่นเดียวกับนายโรเซนเกรนว่าสภาพเศรษฐกิจในขณะนี้ยังอยู่ในระดับที่ดีอยู่ ด้านนายฮาร์เคอร์ยอมรับว่ามีความลังเลกับการปรับลดในเดือนกรกฎาคมเนื่องจากรู้สึกว่า “เราควรหยุดนิ่งอยู่กับที่สักพักแล้วรอดูสถานการณ์ต่อไปก่อน” ในขณะที่ช่วงสัปดาห์นี้ ประธานาธิบดีทรัมป์พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อกดดันให้เฟดเร่งดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก แต่คณะกรรมการของเฟดกลับไม่มีใครเห็นด้วยกับแนวคิดนี้เลย หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้จริงก็จะหมายความว่าตลาดมีการคาดการณ์ที่ผิดถนัด เพราะเมื่อพิจารณาในตลาดซื้อขายล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นักลงทุนมีความเชื่อมั่นถึง 100% ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกในเดือนหน้านี้ ดังนั้นในขณะนี้ทั้งหมดจึงขึ้นอยู่กับนายเจอโรม พาวเวลล์เพียงคนเดียวที่จะเป็นผู้สร้างความกระจ่างได้ โดยเขาจะขึ้นแถลงในเวลา 14.00 น. ของวันศุกร์ที่จะถึงนี้ ท่าทีในการแถลงจะเป็นตัวกำหนดทิศทางของค่าเงินดอลลาร์ ในสัปดาห์ต่อๆ ไป