InfoQuest - สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันอังคาร (23 ก.ค.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ ขณะที่นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 12.60 ดอลลาร์ หรือ 0.53% ปิดที่ 2,407.30 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 1 เซนต์ หรือ 0.03% ปิดที่ 29.331 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 80 เซนต์ หรือ 0.08% ปิดที่ 955.80 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 18.30 เซนต์ หรือ 2.05% ปิดที่ 911.10 ดอลลาร์/ออนซ์
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีลดลงสู่ระดับ 4.240% เมื่อคืนนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนตลาดทองคำ เนื่องจากการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะช่วยลดต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย
นอกจากนี้ นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหรัฐ ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพ.ย.นี้
นายเอริก ชมิตต์ สมาชิกวุฒิสภาสังกัดพรรครีพับลิกัน และนางแนนซี เมซ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครีพับลิกันเช่นกัน ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการบังคับใช้บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขครั้งที่ 25 เพื่อให้มีการถอดถอนโจ ไบเดนออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี เนื่องจากเขาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
ทั้งนี้ นายชมิตต์กล่าวว่า "โจ ไบเดนได้ตัดสินใจแล้วว่า เขาไม่มีความสามารถในการเป็นแคนดิเดต ซึ่งการยอมรับของเขามีความหมายว่าเขาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานาธิบดีได้ ดังนั้น จะเป็นประโยชน์ที่ดีที่สุดสำหรับสหรัฐในการที่โจ ไบเดนจะลาออกจากตำแหน่ง มิฉะนั้นเขาจะถูกถอดถอนตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขครั้งที่ 25"
นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2567 ซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันพฤหัสบดีนี้ (25 ก.ค.) และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันศุกร์ (26 ก.ค.) โดยคาดว่าข้อมูลดังกล่าวจะเป็นตัวบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด