โดย Ambar Warrick
Investing.com -- ราคาน้ำมันขยับเล็กน้อยในวันอังคาร เนื่องจากตลาดประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการขายน้ำมันดิบเพิ่มเติมจากคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ (SPR) ของสหรัฐฯ ในขณะที่ยังคงซื้อขายด้วยความระมัดระวังก่อนที่จะมีการอ่านค่าที่สำคัญเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ซึ่งจะเปิดเผยท้ายวันนี้
ทีมบริหารของประธานาธิบดีไบเดนกล่าวเมื่อวันจันทร์ว่าจะขายน้ำมันดิบ 26 ล้านบาร์เรลจากคลัง SPR ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปล่อยน้ำมันออกจากคลังที่ได้รับมอบอำนาจจากสภาคองเกรส การขายดังกล่าวมีขึ้นหลังจากกระทรวงพลังงานปล่อยน้ำมันสำรองสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 180 ล้านบาร์เรลในปี 2022 เพื่อต่อสู้กับราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น
ปัจจุบันตัวเลขของคลัง SPR อยู่ที่ 372 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1983 โดยการปล่อยขายครั้งล่าสุดมีกำหนดเปิดประมูลในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ และมีกำหนดส่งมอบระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายน
แต่การขายเพิ่มเติมนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ตลาดน้ำมันดิบของสหรัฐฯ เต็มไปด้วยอุปทาน ในขณะที่อุปสงค์อ่อนตัวลงท่ามกลางแรงกดดันต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงและอัตราเงินเฟ้อ
น้ำมันดิบเบรนท์ฟิวเจอร์ส ราคาทรงตัวที่ 85.78 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ น้ำมันดิบ WTI ฟิวเจอร์ส ลดลงเล็กน้อยเป็น 79.10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อเวลา 20:32 น. ET (01:32 GMT) สัญญาทั้งสองฉบับขาดทุนเล็กน้อยตั้งแต่วันจันทร์ เนื่องจากตลาดส่วนใหญ่มองข้ามความเคลื่อนไหวล่าสุดของรัสเซียที่จะลดการผลิตน้ำมันลง 5% ของทั้งหมด
ขณะนี้ความสนใจของตลาดเน้นไปที่ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ ดัชนีราคาผู้บริโภค ของสหรัฐอเมริกาซึ่งจะเปิดเผยท้ายวันนี้ ซึ่งคาดว่าจะแสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อผ่อนคลายลงอีกในเดือนมกราคมจากเดือนก่อนหน้า แต่คาดว่าแรงกดดันด้านราคาจะยังคงอยู่ระดับสูง
นอกจากนี้ เทรดเดอร์ยังระมัดระวังต่อข้อมูลที่อาจสร้างความประหลาดใจ ซึ่งอาจส่งผลต่อนโยบายการเงินของเฟด และรักษาอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ระดับสูงขึ้นต่อไปอีกนาน
การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ คาดว่าจะชะลอตัวลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เนื่องจากตลาดรู้สึกถึงผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่รุนแรงในปี 2022 ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์น้ำมันดิบเช่นกัน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยคาดว่าจะช่วยหนุนค่าเงิน ดอลลาร์ ให้แข็งค่าขึ้นซึ่งทำให้ราคาน้ำมันดิบแพงขึ้นสำหรับผู้ซื้อจากต่างประเทศ
ในทางกลับกัน มีแนวโน้มว่าราคาน้ำมันจะทำขาขึ้นรออุปสงค์ที่จะฟื้นตัวในจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลก คาดว่าจีนจะผลักดันอุปสงค์น้ำมันดิบทั่วโลกให้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ หลังจากที่ได้ผ่อนคลายข้อจำกัดส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับการป้องกันโควิด ซึ่งปูทางไปสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
แต่การอ่านค่าเศรษฐกิจล่าสุดจากจีนแสดงให้เห็น การฟื้นตัวของกิจกรรมที่ไม่มั่นคง ซึ่งอาจบ่งชี้ถึงเส้นทางอีกยาวไกลในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบ