เหล่าผู้วางนโยบายทางการเงินในธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มถูกกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อตลาดลงทุนมีหลักฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่าการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อไม่ใช่เรื่องที่คิดเป็นเอง ดัชนีการบริโภคพื้นฐาน (PCE Index) ซึ่งเป็นหนึ่งมาตรวัดหลักของอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 3.1% ในเดือนเมษายนเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้น 0.7% เมื่อเทียบกับตัวเลขของเดือนมีนาคม ซึ่งตัวเลขทั้งสองนี้สามารถเอาชนะตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ได้ด้วย ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อนำค่าอาหาร และราคาของตลาดพลังงานเข้ามาร่วมวัดก็พบว่าค่า PCE ในปีนี้เพิ่มขึ้น 3.6%
ถึงแม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯจะพยายามเรียกความเชื่อมั่นในการพูดว่า “อย่างกังวลการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อ นี่เป็นปรากฎการณ์ที่คาดเอาไว้อยู่แล้วและจะเป็นสภาวะที่ต้องเจอชั่วคราวเท่านั้น” แต่นักเศรษฐศาสตร์บางคนก็เห็นแย้งแล้วบอกว่าถึงเวลาที่เฟดต้องหยุดพูดคำเหล่านี้ได้แล้วเพราะตัวเลขที่เป็นหลักฐานนั้นไม่เคยโกหกใคร
แน่นอนว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับตัวเลขที่ปรากฎ ก่อนหน้านี้นายริชาร์ด คลาริด้า อดีตรองประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ เคยกล่าวหลังจากที่มีรายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) รอบล่าสุดว่าในการประชุมครั้งถัดไปอาจจะมีการพูดถึงความเป็นไปได้ในการลดวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรมูลค่า $120,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน
นายแรนดัล แควเรส รองประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ คนปัจจุบันกล่าวในงานสัมมนาที่สถาบันบรู๊คลินว่า
“มุมมองส่วนตัวที่ผมมีเกี่ยวกับการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อและการคาดการณ์ที่มีมาตั้งแต่เดือนธันวาคมในตอนนี้ผมคิดว่าเพียงพอแล้วสำหรับการเพิ่มขึ้นจนถึงเป้าหมายของเฟด”
นอกจากนี้เขายังบอกว่าให้จับตาดูการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (NFP) ที่จะประกาศออกมาในวันศุกร์นี้อีกด้วยว่าจะสามารถฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้หรือไม่ อนึ่ง การรายงานตัวเลข NFP ของเดือนเมษายนที่รายงานไปเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมออกมาลดลงอย่างน่าผิดหวัง ตัวเลขในเดือนเมษายนพบว่ามีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียง 266,000 ตำแหน่งเท่านั้น สำหรับตัวเลขการจ้างงานของเดือนพฤษภาคมที่จะรายงานในวันศุกร์นี้ นักวิเคราะห์ประเมินเอาไว้ว่าจะออกมาที่ 675,000 ตำแหน่ง
โรเบิร์ต แคปเลน ประธานธนาคารกลางรัฐดัลลัสยังคงยืนยันให้ FOMC พิจารณาเรื่องการปรับลดวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรให้เร็วที่สุด สัปดาห์ก่อนเขาเน้นไปที่ประเด็นการใช้เงิน $40,000 ล้านเหรียญสหรัฐของเฟดไปกับการซื้อตราสารสินเชื่อที่อยู่อาศัย (MBS) เขามองว่าการที่เฟดใช้เงินแบบนี้ไม่ได้เป็นไปตามคำว่า “ชั่วคราว” อย่างที่เฟดชอบพูดกับสาธารณะ
แมรี่ ดาลีย์ ประธานธนาคารกลางแห่งซาน ฟรานซิสโก ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNBC เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า
“สมาชิก FOMC ยึดถือคำพูดของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดเป็นอย่างมาก นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราได้ยินคำว่า “ชั่วคราว” บ่อยครั้งและย้ำอยู่บ่อยๆ แต่จากตัวเลขเศรษฐกิจที่ปรากฎ ดูเหมือนว่าพวกเราต้องเปลี่ยนท่าทีในการสื่อสารเพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับคืนมา”
เฟดกำลังให้ความสำคัญกับจุดที่ยังไม่ควรจะให้ความสำคัญหรือไม่
แพท ทูมีย์ สมาชิกพรรครีพับลิกันและผู้แทนจากรัฐเพนซิลเวเนียต้องการเห็นเฟดโฟกัสไปที่การปรับเงื่อนไขในนโยบายทางการเงินมากกว่านี้ ที่สำคัญเขายังย้ำด้วยว่าเฟดควรเอาตัวเองออกห่างจาการเมืองให้มาก และไม่เข้าข้างคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงเพราะเรื่องผิวสี ไม่งั้นการบริหารเงินสำรองของประเทศอาจถูกเข้าใจผิดว่ามีความลำเอียงทางการเมืองเกิดขึ้นได้
สาเหตุที่เขาวิจารณ์เช่นนี้เป็นเพราะเขาเชื่อว่าการที่เฟดยังปล่อยให้เงินเฟ้อเร่งตัวในขณะที่เอาแต่พูดว่า “เป็นเพียงเรื่องชั่วคราว” เพราะต้องการสนับสนุนการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของโจ ไบเดนที่ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งก็ใช้เงินกระตุ้นไปในจำนวนมหาศาลแล้ว ที่สำคัญ แพท ทูมีย์ ค่อนข้างให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องผิวสีมาก แม้เขาจะอยู่พรรครีพับลิกัน แต่เขาก็เป็นคนหนึ่งที่โหวตเห็นด้วยว่าอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สมควรถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง
นอกเหนือจากการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของธนาคารกลางสหรัฐฯ เขายังจี้ประธานธนาคารกลางสามคนอันได้แก่ นายอีริค โรเซนเก้น นายราฟาเอล บอสติค และนีล คาชคาริ ให้ส่งเอกสารสรุปการทำงานในช่วงนี้ให้กับเขาภายในสัปดาห์ที่สองของเดือนมิถุนายน ในตอนนี้ไม่ใช่แค่ทูมีย์คนเดียวที่กำลังตั้งข้อสงสัยในการทำงานของธนาคารกลางสหรัฐฯ แต่เขาเป็นคนเดียวและคนแรกที่ดึงประเด็นเรื่องผิวสีเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำงานของเฟด
สำหรับคนนอกนั้นกำลังมองเห็นภาพที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังฟื้นตัวได้เป็นอย่างดี แต่ภายในนั้นกลับยังมีความเลื่อมล้ำปรากฎให้เห็นอยู่ และยิ่งเด่นชัดมากกว่าเดิมในยุคหลังโควิด ผู้เชี่ยวชาญบางคนออกมาเตือนว่าปัญหาเงินเฟ้อหากปล่อยให้เกิดแล้วจะส่งผลกระทบต่อคนชนชั้นล่างมากกว่าชนชั้นบน และถ้าเฟดยังใช้คำว่า “ชั่วคราว” ในการอ้างเพื่อปัดเรื่องลดความร้อนแรงของปัญหาเงินเฟ้อ การที่ทูมีย์กล่าวหาว่าเฟดก็มีส่วนร่วมในการสร้างความเลื่อมล้ำให้เกิดขึ้นในสังคมก็ถือว่าสมควรแล้ว