หากถามว่าเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจใดที่สำคัญที่สุดสัปดาห์นี้? คำตอบที่ได้เชื่อว่าจะต้องเป็นการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของสหรัฐอเมริกาที่จะมีขึ้นในวันที่ 27-28 เมษายนตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐฯ สำหรับการประชุมครั้งนี้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) คงจะไม่มีการเปลี่ยนนโยบายทางการเงินใดๆ เพิ่มเติมและจะไม่พูดถึงสิ่งที่ทุกฝ่ายกำลังรออยู่อย่างเช่นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือลดวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ด้วย
นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าสิ่งที่เราจะได้ยินในการประชุมครั้งนี้คือการออกมาพูดถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจและเรียกความเชื่อมั่น (อีกแล้ว) ของนักลงทุนอย่างที่พวกเขาเคยทำมาตลอดหลายเดือน เฟดจะยังคงย้ำว่าจะไม่ทำอะไรเพิ่มเติมจนกว่าการจ้างงานจะเพิ่มขึ้นมาจนอยู่ในระดับที่พวกเขาพอใจ และไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องการเร่งตัวของภาวะเงินเฟ้อเพราะเฟดจัดการได้
นายแลร์ลี่ ลินด์ซีย์ ผู้อำนวยการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติซึ่งเคยทำงานกับอดีตประธานาธิบดีจอร์ช บุช ในปี 1990 กล่าวว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ชุดนี้ดูเหมือนว่าจะประมาทความเสี่ยงของเงินเฟ้อมากเกินไป ความต้องการและภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจทุกวันนี้เกิดขึ้นเพราะการมอบเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และเมื่อความเป็นจริงมาถึงในปีหน้า ในวันที่รัฐบาลหยุดช่วยเหลือประชาชนแล้ว วันนั้นเราจะได้เห็นว่าเป็นจริงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
สิ่งที่นายแลร์ลี่เป็นกังวลคือปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ ถึงเฟดจะออกมาพูดว่าต้องการให้การจ้างงานกลับไปเป็นเหมือนกับในยุคก่อนโควิด แต่เพราะโควิดที่เข้ามาได้ทำลายงานในโลกยุคเก่าและบังคับให้โลกเปลี่ยนเข้าสู่ยุคออนไลน์อย่างฉับพลัน หมายความว่าคนที่เคยทำงานได้ในปี 2019 อาจจะไม่สามารถทำงานเดิมได้อีกแล้วในปี 2022 เมื่อตำแหน่งงานไม่ตรงกับที่บริษัทต้องการ หมายความว่าบริษัทก็ต้องจ้างคนที่พวกเขาต้องการด้วยเงินที่มากขึ้น ที่สำคัญก็คือการที่เฟดมัวแต่สนใจเป้าหมายที่จะทำให้ตำแหน่งการจ้างงานกลับมาอาจจะทำให้พวกเขาประมาทปัญหาเงินเฟ้อที่กำลังก่อตัวอยู่ก็เป็นได้
“ผมคิดว่า” นายแลร์ลี่กล่าวต่อ “กราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีซึ่งเป็นมาตรวัดความกลัวของนักลงทุนที่มีต่อเงินเฟ้ออาจสามารถขึ้นแตะ 3% ได้ภายในสิ้นปีนี้ แต่สิ่งที่เราจะได้ยินจากเจอโรม พาวเวลล์ประธานเฟดในการประชุมครั้งนี้ก็คงจะเป็นการพูดถึงข้อดีของเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ การไม่กังวลถึงความเสี่ยงของเงินเฟ้อและแน่นอนว่าเขาต้องเน้นเรื่องเป้าของตัวเลขการจ้างงาน”
สิ่งที่ทำให้การตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐฯ กลายเป็นเหตุการณ์ที่น่าจับตาเป็นเพราะเมื่อวันพุธที่แล้วธนาคารกลางแคนาดา (BoC) พึ่งสร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการปรับลดวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรจาก 3,000 ล้านดอลลาร์แคนาดาเหลือ 1,000 ล้านดอลลาร์แคนาดา ที่สำคัญก็คือ BoC ยังแง้มข่าวดีด้วยว่าหากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปตามเป้าก็อาจจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2022
นักวิเคราะห์บางคนคาดว่านี่อาจจะเป็นการเดินหมากที่ผิดพลาดของ BoC แต่บางคนกลับมองว่านี่คือการส่งสัญญาณกดดันระหว่างธนาคารกลางของแต่ละประเทศ ในแง่ของอัตราเงินเฟ้อ BoC กำหนดเพดานเอาไว้ที่ 2% แต่ BoC เองก็ประเมินว่าอาจได้เห็นอัตราเงินเฟ้อที่ 2.4% ภายในช่วงไตรมาสสี่ของปี 2023
ในขณะที่ BoC ชิงลดวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรไปแล้ว ธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป (ECB) กลับเพิ่มวงเงินในการซื้อพันธบัตรรัฐบาลในเดือนมีนาคมเป็น 74,000 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากตัวเลขเดิมที่ 60,000 และ 53,000 ล้านยูโร นางสาวคริสตีน ลาการ์ด ประธาน ECB กล่าวว่า ECB จำเป็นต้องเพิ่มวงเงินในการเข้าซื้อพันธบัตรเพื่อเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในยูโรโซนที่ฟื้นตัวได้ช้ากว่าทวีปอื่นๆ
นอกจากการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ สัปดาห์นี้นักลงทุนจะให้ความสนใจกับการรายงานตัวเลข GDP ในไตรมาสที่หนึ่งของปี 2021 ซึ่งไตรมาสที่แล้วก็คือไตรมาสที่สี่ของปี 2020 ตัวเลข GDP ของสหรัฐฯ ประกาศออกมาอยู่ที่ 4.3% ซึ่งครั้งนี้นักวิเคราะห์คาดว่าตัวเลข GDP ในไตรมาสที่หนึ่งของปี 2021 จะเพิ่มขึ้นมาเป็น 6.5% นักเศรษฐศาสตร์จาก ING ประเมินว่าตัวเลข GDP รายปีของสหรัฐฯ ในปี 2021 อาจเพิ่มขึ้นเป็น 7% ส่วนอัตราเงินเฟ้ออาจสามารถขึ้นมาใกล้เคียงกับ 4% ภายในเดือนพฤษภาคม
หากตัวเลข GDP ที่จะประกาศในวันพฤหัสบดีตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐฯ เติบโตขึ้นจริงอย่างที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ในการประชุมครั้งหน้าที่จะเกิดขึ้นประมาณกลางเดือนมิถุนายน ธนาคารกลางสหรัฐฯ จำเป็นต้องคิดคำพูดดีๆ ว่าจะอธิบายเรื่องการปรับขึ้นนโยบายดอกเบี้ยกับสาธารณะชนอย่างไร และการประชุมที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่เราได้เห็นเฟดปลอบประโลมตลาดลงทุน