ปลดล็อคข้อมูลพรีเมียม: ส่วนลดสูงสุดถึง 50% InvestingProรับส่วนลด

ทำไมตลาดถึงคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 0.75% อีกครั้งในเดือนหน้า

เผยแพร่ 29/08/2565 20:42

เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ในเวลา 21:00 ลุงพาวเวลล์ได้ออกมาแถลงการณ์ในการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐประจำปีที่เมือง Jackson Hole ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก

นักลงทุนทั่วโลกต่างจับตาการประชุมประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิงในคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ขณะที่ไฮไลท์อยู่ที่การกล่าวสุนทรพจน์ของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ซึ่งจะมีขึ้นในเวลา 10.00 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือ 21.00 น.ตามเวลาไทย

ทั้งนี้ เฟดจัดการประชุมประจำปีที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ซึ่งได้เริ่มขึ้นในวันที่ 25 ส.ค. และได้สิ้นสุดลงในวันที่ 27 ส.ค. โดยนักลงทุนคาดว่าเฟดจะส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ ทิศทางอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งการปรับลดขนาดงบดุล (QT) ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ การประชุมที่เมืองแจ็กสัน โฮล ถือเป็นการประชุมที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยผู้ว่าการธนาคารกลาง รัฐมนตรีคลัง นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน จากประเทศต่างๆทั่วโลก จะเดินทางเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ขณะที่ไฮไลท์จะอยู่ที่การกล่าวปาฐกถาของประธานเฟดในขณะนั้นเพื่อแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนโยบายการเงินของเฟด และแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ

สำหรับหัวข้อในการประชุมประจำปีนี้คือ "Reassessing Constraints on the Economy and Policy" โดยนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ตลาดนั้นได้มีความผันผวนเป็นอย่างมาก มาจนถึงในวันนี้!!!

นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่า ภารกิจของเฟดในการต่อสู้กับเงินเฟ้อยังไม่เสร็จสิ้น โดยเฟดจะยังคุมเข้มนโยบายการเงินต่อไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงานของสหรัฐ

"เราจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป จนกว่าจะมั่นใจว่าภารกิจของเราจะประสบความสำเร็จ โดยภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจอาจได้รับผลกระทบจากการที่เฟดยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ความล้มเหลวในการรักษาเสถียรภาพของราคาจะทำให้เกิดผลกระทบมากกว่า" นายพาวเวลกล่าวในการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮลในคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ นายพาวเวลกล่าวว่า เฟดยังคงจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป และเฟดจะไม่ตัดทางเลือกในการ "ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่มากกว่าปกติ" ในเดือนก.ย.

นายพาวเวลย้ำว่าเฟดจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว โดยสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตสะท้อนให้เห็นว่าการดำเนินการที่ล่าช้าเกินไปจะทำให้ตลาดแรงงานทรุดตัวลงอย่างหนัก

"แมัว่าตัวเลขเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงในเดือนก.ค.เป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ข้อมูลเพียงเดือนเดียวยังไม่เพียงพอที่จะทำให้คณะกรรมการเฟดเชื่อมั่นว่าเงินเฟ้อได้ปรับตัวลงแล้ว" นายพาวเวลกล่าว

นายพาวเวลล์ยังได้กล่าวอีกว่า การตัดสินใจด้านนโยบายการเงินครั้งต่อไปจะขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจที่เฟดจะได้รับในวันข้างหน้า โดยก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมในวันที่ 20-21 ก.ย. สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนส.ค.ในวันที่ 2 ก.ย. และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนส.ค.ในวันที่ 13 ก.ย.

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญในวันศุกร์ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 6.3% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี โดยชะลอตัวลงจากที่ดีดตัวขึ้น 6.8% ในเดือนมิ.ย.

เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ลดลง 0.1% ในเดือนก.ค.

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 4.6% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี โดยต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 4.8% และชะลอตัวจากระดับ 4.8% ในเดือนมิ.ย.

เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนก.ค. โดยต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนมิ.ย.

ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จากกระทรวงแรงงานสหรัฐ

นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนก.ย. หลังการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 58.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนัก 41.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50%

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 0.6% ซึ่งดีกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ซึ่งระบุว่า GDP หดตัว 0.9%

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐยังเปิดเผยว่า ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 2,000 ราย สู่ระดับ 243,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 255,000 ราย

ขณะที่ในวันศุกร์ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 4.6% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี โดยต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 4.8% และชะลอตัวจากระดับ 4.8% ในเดือนมิ.ย.

ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จากกระทรวงแรงงานสหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐยังเปิดเผยด้วยว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนก.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.4% หลังจากเพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนมิ.ย. ส่วนรายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนก.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5%

นอกจากนี้ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 58.2 ในเดือนส.ค. โดยสูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 55.1 จากระดับ 51.5 ในเดือนก.ค.

ในขณะที่ความคิดเห็นจากคณะกรรมการเฟดรายอื่นๆก็เป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนให้นักลงทุนเพิ่มคาดการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนหน้าเช่นเดียวกัน

นางแมรี ดาลี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาซานฟรานซิสโก กล่าวว่า การที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% หรือ 0.75% ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนก.ย. ล้วนมีความเหมาะสมเพื่อให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดอยู่เหนือระดับ 3% ภายในปลายปีนี้ และสูงขึ้นอีกเล็กน้อยในปี 2566

นางดาลีกล่าวเสริมว่า เมื่ออัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับดังกล่าว และกำลังชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐ เฟดก็ควรจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยต่อไป และไม่ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว

นางดาลีระบุว่า เฟดมีความมุ่งมั่นในการทำให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย 2% ของเฟด แต่เฟดก็ไม่ควรดำเนินการผิดพลาดด้วยการคุมเข้มนโยบายการเงินมากเกินไป

นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาเซนต์หลุยส์ กล่าวว่า เฟดควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนก.ย. ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีความแข็งแกร่ง

"ผมมองไม่เห็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราต้องชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปเป็นปีหน้า โดยเฟดควรปรับขึ้นเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 3.75-4.00% ภายในสิ้นปีนี้" นายบูลลาร์ดกล่าว

คำกล่าวของนายบูลลาร์ดสอดคล้องกับถ้อยแถลงของนางแมรี ดาลี ประธานเฟด สาขาซานฟรานซิสโก ซึ่งสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% หรือ 0.75% ในการประชุมเดือนก.ย.

ทั้งนี้ นายบูลลาร์ดเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอย ขณะที่เฟดเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ โดยเขาเชื่อมั่นว่าคณะกรรมการเฟดชุดปัจจุบันจะไม่นำพาเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยเช่นที่เคยเกิดขึ้นในสมัยที่นายพอล วอล์คเกอร์ ดำรงตำแหน่งประธานเฟดในช่วงต้นทศวรรษ 1980

นายนีล แคชแครี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขามินนีแอโพลิสได้ออกมาแสดงความวิตกว่า เฟดและตลาดการเงินต่าง ๆ กำลังประเมินแรงกดดันด้านเงินเฟ้อต่ำเกินไป และมองว่าการจัดการกับภาวะเงินเฟ้อต้องอาศัยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงมากกว่านี้

นายแคชแครีต้องการให้เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากที่สุดในบรรดาผู้กำหนดนโยบายทั้ง 19 คนของเฟด โดยเขาหวังให้เฟดปรับอัตราดอกเบี้ยจาก 2.25%-2.5% ในขณะนี้ ขึ้นอีก 2% ภายในสิ้นปีหน้า และเขาต้องการเห็นหลักฐานที่ชัดเจนว่า อัตราเงินเฟ้อจะปรับลดลงสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% ของเฟด ก่อนที่เฟดจะผ่อนคลายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

นางเอสเธอร์ จอร์จ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแคนซัส ซิตี้ ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮลในสัปดาห์ที่แล้ว กล่าวว่า ยังคงเร็วเกินไปที่จะระบุว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% หรือ 0.75% ในเดือนก.ย.

อย่างไรก็ดี นางจอร์จย้ำว่า "เรามีภารกิจที่ชัดเจนในการทำให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย โดยเราจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้สูงเพียงพอที่จะแก้ไขภาวะไร้สมดุลด้านปัจจัยพื้นฐานระหว่างอุปสงค์สำหรับสินค้าและความสามารถในทางเศรษฐกิจที่จะผลิตสินค้าดังกล่าว"

นางจอร์จระบุว่า แม้ว่านโยบายเฟดจะส่งผลให้การว่างงานพุ่งสูงขึ้น และกระทบต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ แต่สิ่งนี้จะไม่ทำให้เฟดยุติการใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงิน

นางจอร์จกล่าวว่า เฟดอาจจำเป็นต้องปรับขึ้นเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า 4% เพื่อให้บรรลุผลที่ต้องการ และอัตราดอกเบี้ยจะทรงตัวในระดับสูงเป็นระยะเวลาหนึ่ง

ด้านนายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟด สาขาแอตแลนตา กล่าวเช่นกันว่า "ในขณะนี้ ผมคงต้องโยนเหรียญหัวก้อยเพื่อตัดสินว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% หรือ 0.75%"

อย่างไรก็ดี นายบอสติกกล่าวว่า หากเฟดได้รับข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง เฟดก็อาจปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในเดือนก.ย.

นายบอสติกยืนยันว่า เขามีความมุ่งมั่นที่จะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูง และจะยังไม่ปรับลดลง จนกว่าเงินเฟ้อจะไปสู่เป้าหมายของเฟดที่ 2%

นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาเซนต์หลุยส์คาดการณ์ว่า เงินเฟ้อสหรัฐมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงยาวนานกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์เอาไว้ และระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในขณะนี้ยังไม่สูงพอที่จะควบคุมแรงกดดันเงินเฟ้อ

ในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีในเมืองแจ็กสัน รัฐไวโอมิงในวันพฤหัสบดี (25 ส.ค.) นายบูลลาร์ดย้ำว่า เขาต้องการให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดปรับขึ้นจากระดับปัจจุบันที่กรอบ 2.25% -2.50% สู่กรอบ 3.75% -4.00% ภายในช่วงสิ้นปีนี้ พร้อมเสริมว่า เขาสนับสนุนดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าว เพราะ "แสดงให้เห็นว่า คุณมีความจริงจังในการต่อสู้กับเงินเฟ้อ"

"โดยพื้นฐานแล้วผมคิดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูงยาวนานกว่าที่นักวิเคราะห์จำนวนมากในวอลล์สตรีทคาดการณ์เอาไว้ โดยจะสูงขึ้นและยาวนานขึ้น และเรื่องนี้เป็นความเสี่ยงที่ตลาดประเมินค่าต่ำเกินไป" นายบูลลาร์ดกล่าว

นางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาคลีฟแลนด์ กล่าวว่า เฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้อยู่เหนือระดับ 4% และคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวในปีหน้า

นอกจากนี้ นางเมสเตอร์ระบุว่า นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ได้ส่งสารที่มีใจความแข็งแกร่งในคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของเฟดในการสกัดเงินเฟ้อ

"ดิฉันคิดว่านี่เป็นการกล่าวสุนทรพจน์ที่แข็งแกร่งและถูกต้อง ซึ่งดิฉันเห็นด้วยอย่างยิ่ง" นางเมสเตอร์กล่าว

สำหรับการประชุมนโยบายการเงินของเฟดเมื่อวันที่ 26-27 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น คณะกรรมการเฟดมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกัน และถือเป็นการดำเนินการที่เข้มงวดที่สุดนับตั้งแต่ที่เฟดกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเป็นเครื่องมือสำคัญด้านนโยบายการเงินในช่วงทศวรรษ 1990 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในขณะนี้อยู่ที่ระดับ 2.25-2.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2561

ความคิดเห็นล่าสุด

กำลังโหลดบทความถัดไป...
การเปิดเผยความเสี่ยง: การซื้อขายตราสารทางการเงินและ/หรือเงินดิจิตอลจะมีความเสี่ยงสูงที่รวมถึงความเสี่ยงต่อการสูญเสียจำนวนเงินลงทุนของคุณบางส่วนหรือทั้งหมดและอาจไม่เหมาะสมกับนักลงทุนทั้งหมด ราคาของเงินดิจิตอลแปรปรวนอย่างมากและอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกต่าง ๆ เช่น เหตุการณ์ทางการเงิน กฎหมายกำกับดูแล หรือ เหตุการณ์ทางการเมือง การซื้อขายด้วยมาร์จินทำให้ความเสี่ยงทางการเงินเพิ่มขึ้น
ก่อนการตัดสินใจซื้อขายตราสารทางการเงินหรือเงินดิจิตอล คุณควรตระหนักดีถึงความเสี่ยงและต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายในตลาดการเงิน ควรพิจารณาศึกษาอย่างรอบคอบในด้านวัตถุประสงค์การลงทุน ระดับประสบการณ์ และ การยอมรับความเสี่ยงและแสวงหาคำแนะนำทางวิชาชีพหากจำเป็น
Fusion Media อยากเตือนความจำคุณว่าข้อมูลที่มีในเว็บไซต์นี้ไม่ใช่แบบเรียลไทม์หรือเที่ยงตรงแม่นยำเสมอไป ข้อมูลและราคาที่แสดงไว้บนเว็บไซต์ไม่ใช่ข้อมูลที่ได้รับจากตลาดหรือตลาดหลักทรัพย์เสมอไปแต่อาจได้รับจากผู้ดูแลสภาพคล่องและดังนั้นราคาจึงอาจไม่เที่ยงตรงแม่นยำและอาจแตกต่างจากราคาจริงในตลาดซึ่งหมายความว่าราคานี้เป็นเพียงราคาชี้นำและไม่เหมาะสมสำหรับวัตถุประสงค์เพื่อการซื้อขาย Fusion Media และผู้ให้ข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้จะไม่รับผิดชอบใด ๆ สำหรับความเสียหายหรือการสูญเสียที่เป็นผลมาจากการซื้อขายของคุณหรือการพึ่งพาของคุณในข้อมูลที่มีในเว็บไซต์นี้
ห้ามใช้ จัดเก็บ ทำซ้ำ แสดงผล ดัดแปลง ส่งผ่าน หรือ แจกจ่ายข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้โดยไม่ได้รับการอนุญาตล่วงหน้าอย่างชัดแจ้งแบบเป็นลายลักษณ์อักษรจาก Fusion Media และ/หรือจากผู้ให้ข้อมูล ผู้ให้ข้อมูลขอสงวนสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและ/หรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ให้ข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้
Fusion Media อาจได้รับผลตอบแทนจากผู้โฆษณาที่ปรากฎบนเว็บไซต์โดยอิงจากปฏิสัมพันธ์ของคุณที่มีกับโฆษณาหรือผู้โฆษณา
เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษของเอกสารฉบับนี้เป็นเวอร์ชั่นหลักซึ่งจะเป็นเวอร์ชั่นที่เหนือกว่าเมื่อใดก็ตามที่มีข้อขัดแย้งไม่สอดคล้องตรงกันระหว่างเอกสารเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษกับเอกสารเวอร์ชั่นภาษาไทย