จนถึงเมื่อวานนี้ ดัชนี NASDAQ Compositeดีดขึ้นมาทำ All Time High ไปแล้วเรียบร้อย สัญญาณทางเทคนิคต่างๆ ต่างยืนยันแล้ว ณ ระดับดัชนีเมื่อปลายเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา น่าจะเป็นจุดต่ำสุดของปี 2020 ไปแล้วแทบจะ 100%
หลายคนคงได้อ่านความเห็น และมุมมองของนักวิเคราะห์และเหล่านักลงทุนกันไปแล้วอย่างต่อเนื่อง คนที่เคยมองตลาดเป็นขาลง (อย่างผม) ก็ยอมมอบตัว กลับมาอยู่ฝั่งขาขึ้นกันเป็นแถวๆ
สิ่งที่เราทุกคนรับกันได้ในยุค New Normal แบบนี้ก็คือ มองข้ามปัจจัยพื้นฐาน และ ความแพงของตลาดไปก่อน เพราะเงินมันล้นโลกอยู่ตอนนี้ ซึ่งเป็น Side Effect จากการอัดฉีดเงินจากนโยบายการเงินและการคลังทั่วโลก
ผมลองนั่งหาข้อมูลดูเรื่อยๆ พบว่า มีหลายประเด็นที่เราอาจจะไม่เคยรู้ หรืออาจมองข้ามไปในตลาดขาขึ้นรอบนี้ ก็เลยอยากมาแชร์ให้ได้อ่านกัน ลองดูครับ
1. นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นสัปดาห์ที่แล้ว Fund Flow ที่ไหลเข้าเหล่ากองทุน Money Market Fund สูงถึง $1.1 Trillion ซึ่งหากเทียบกับตลาดหุ้นแล้ว Fund ยังติดลบอยู่ที่ $100 Billion นั่นแปลว่า รอบขาขึ้นที่เรายืนอยู่กันตรงนี้ คนส่วนใหญ่แทบไม่ได้กำไรจากมันเท่าไหร่ กลับเป็นเหล่า Hot Money หรือ นักลงทุนสถาบันที่ซื้อดันดัชนีโลกขึ้นมา
แล้วลองคิดดูครับว่า $1.1 Trillion ที่รออยู่ใน Money Market Fund รอบนี้ ทนไม่ได้กับดอกเบี้ยใกล้ 0% แล้วเริ่มขยับออกมาหาผลตอบแทนมากขึ้น ภาพที่จะเกิดกับ Risky Asset ทั่วโลกจะเป็นแบบไหน
2. ในตลาด Futures ข้อมูลจาก Bloomberg พบว่า มีนักลงทุนสะสม Net Short Position ใน S&P 500 Futures สูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. ปี 2015 ผมเลยลองไปดูว่า ดัชนี S&P 500 ณ ตอนนั้น พฤติกรรมเป็นอย่างไร ก็พบว่า เป็นช่วงที่เฟดประกาศ QE Tapering หรือยุติ QE และตลาดก็กังวลว่า สภาพคล่องที่หายไป จะทำให้ตลาดหุ้นพักฐานแรง
แต่กลายเป็นว่า จุดที่มี Net Short Position เยอะสุดคือ ปลายเดือนก.ย. 2015 คือจุดที่ตลาดหุ้นทำจุดต่ำสุดของปีนั้น และตามมาด้วยการรีบาวน์ได้มากกว่า 10% ในไตรมาส 4/2015 (ถึงแม้จะมีพักฐานทำ New Low อีกรอบในปี 2016 ก็ตาม)
ทำไมพฤติกรรมตลาดเป็นแบบนั้น? คำอธิบายที่พอจะมีเหตุผลก็คือ เมื่อตลาดวิ่งขึ้นไปจนถึงจุดหนึ่ง นักลงทุนที่เคยมองตลาดขาลง จะเริ่มมอบตัว และซื้อหุ้นกลับเพื่อหักกลบลบ Position Short ของตัวเอง ซึ่งเหตุการณ์นี้เราเรียกว่า Short Squeeze และผมมองว่า โอกาสเกิดซ้ำอีกรอบใน Cycle นี้ ก็มีอยู่ไม่น้อยทีเดียว
3. ข้อมูลจากการสำรวจของเว็ปไซส์ Bankrate กับเหล่านายธนาคารเกือบๆ 100 รายว่า คิดว่าเมื่อไหร่เฟดจะสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้? คำตอบที่ได้มากกว่า 80% มองว่า จะขึ้นครั้งแรกได้ก็ต้องปี 2022 โน้นเลย
ปัจจัยที่เฟดจะใช้พิจารณาก็คือ การจ้างงานที่กลับมาเป็นปกติ (ซึ่งปัจจุบันตกงานอยู่ราวๆ 40 ล้านราย) ขณะที่เงินเฟ้อก็ควรมีแบบอ่อนๆเหมือนช่วงก่อนโควิท-19 คือ 1-2%
ขณะที่การอัดฉีด QE ซึ่งเฟดขยายขนาดงบดุลขึ้นไปทะลุ $7 Trillion ไปแล้วนั้น ผลสำรวจมองว่า เฟดจำเป็นต้องอัดฉีดเพิ่มภายในปีนี้และปีหน้าอีกอย่างน้อยๆ $2 Trillion ทำให้งบดุลพุ่งขึ้นไปแตะที่ $9 Trillion ภายในสิ้นปี 2021
แปลว่า กระสุนนะยังมี มีเยอะด้วย แต่หลังจากนี้ จังหวะในการประกาศใช้ ที่จะทำให้ตลาดมั่นใจ และเชื่อว่าถึงเวลาอัดอีกรอบแล้วเนี่ย สำคัญทีเดียว
4. จากข้อมูลสถิติในอดีต การปรับฐานระดับ -20% หรือมากกว่า นับตั้งแต่ปี 1906 นั้นเกิดขึ้นมาทั้งหมด 20 ครั้ง รอบวิกฤต COVID-19 รอบนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มองผ่านดัชนี S&P500 พุ่งขึ้นมา 40% จนถึงสัปดาห์ที่แล้ว
หากตั้งสมมุติฐานว่า ตลาดผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และเทียบการเด้งรีบาวน์กับวิกฤต 20 ครั้งก่อนหน้า ครั้งนี้ถือว่ารีบาวน์แรงไหม (ในระยะเวลาที่เท่ากัน นับจากจุดต่ำสุด)
คำตอบคือ มีเพียงครั้งเดียวที่ตลาดรีบาวน์ได้แรงกว่าวิกฤตรอบนี้ ก็คือ วิกฤตซับไพรม์ปี 2008 แต่ที่เหลืออีก 19 ครั้ง รีบาวน์เบากว่ารอบนี้ทั้งหมด แปลว่า ตลาดดีดแรงแบบนี้ ในอดีตเคยเกิดขึ้นมาแล้ว เราแค่ไม่อยากเชื่อว่ามันจะแรงได้ขนาดนี้
5. แต่ถ้ามอง "ระยะเวลา" ที่ตลาดปรับฐานในช่วงเดือนก.พ. - มี.ค. ก็ต้องบอกว่า รอบนี้สั้นเหลือเกิน เป็นหมีแค่เดือนเดียวเนี่ยนะ มันจะเป็นไปได้หรอ? GDP ไตรมาส 2/2020 ที่นักวิเคราะห์มองว่า มันจะแย่มากๆ ยังไม่ประกาศด้วยซ้ำ
ในอดีตตลาดหมี (Bear Market) เฉลี่ยกินระยะเวลาประมาณ 1 ปีกับอีก 6 เดือน จากจุดสูงสุดไหลไปหาจุดต่ำสุด โดยครั้งที่นานที่สุดก็คือ Great Depression ปี 1929 ซึ่งกินเวลาเกือบ 3 ปี กว่าตลาดจะหาจุดต่ำสุดเจอ
ขณะที่ครั้งที่สั้นที่สุด ก็คือ วิกฤต Oil Shock ตอนปี 1990 ซึ่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ใช้เวลาเพียงแค่ 9 เดือนในการปรับฐานไปหาจุดต่ำสุด
ถ้าเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา คือ จุดต่ำสุดของตลาดหมี ก็แสดงว่า เราเพิ่งผ่าน Bear Market ครั้งที่สั้นที่สุดในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว เป็นไปได้ไหม? ผมก็ไม่รู้เหมือนกันครับ
ใครเชื่อเรื่องระยะเวลา ว่ามันต้องใช้เวลาในตลาดหมีพอๆกับอดีต ก็จะยังมองว่า ที่รีบาวน์มาตรงนี้ยังไงก็ควรลงไปอีกรอบ
อันนี้ก็อยู่ที่มุมมองแต่ละคนแล้ว
-------------------------
ความเห็นส่วนตัว ผมมองว่า อำนาจของ Fund Flow ที่ต้นทุนต่ำ จะทำให้ตลาดหุ้นผันผวนมากขึ้นไปอีกระดับจากก่อนหน้านี้ที่เราเคยเห็น
ดังนั้นทำตามแผน เดินตามวินัย และไม่ประมาทในการลงทุน หลักการนี้ ยังไงก็ใช้ได้ตลอดทาง ไม่ว่าเราจะเข้าสู่ยุค New Normal หรือไม่
Mr.Messenger รายงาน
บทความนี้ได้รับการเผยแพร่ครั้งแรกบนเพจ MrMessengerDiary