🟢 ตอนนี้ตลาดกำลังทะยานขึ้น สมาชิกผู้ใช้บริการของเรากว่า 120K คน ต่างรู้ดีว่าควรทำอย่างไร คุณก็สามารถรู้ได้เช่นกันรับส่วนลด 40%

เฟดมีมติ “คง”ดอกเบี้ย ตามคาด แต่ส่งสัญญาณอาจขึ้นอีก 1 ครั้ง และคงไว้สูงอีกนาน

เผยแพร่ 21/09/2566 13:04

เฟดมีมติคงดอกเบี้ย ตามคาด

แต่ส่งสัญญาณอาจขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง และคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้นกว่าคาด

  • Fed Funds Target Range

Actual: 5.25-5.50%        Previous: 5.25-5.50% 

KTBGM: 5.25-5.50%       Consensus: 5.25-5.50%

    • คณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25-5.50% ตามคาด แต่ส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่อสู่ระดับ 5.50-5.75% ก่อนที่จะทยอยปรับลดลงสู่ระดับ 5.1% ในปี 2024 ซึ่งสูงกว่าที่เฟดเคยประเมินไว้ก่อนหน้า
    • เมื่อเทียบประมาณการเศรษฐกิจในการประชุมเดือนมีนาคม เฟดได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้พอสมควร สอดคล้องกับการปรับลดอัตราการว่างงานลงในปีนี้และปีหน้า อย่างไรก็ดี เฟดได้ปรับลดอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE สะท้อนว่าเฟดอาจลดความกังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อลงบ้าง ทั้งนี้ เฟดจะคอยประเมินผลกระทบและติดตามพัฒนาการของข้อมูลเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด หลังเกิดภาวะตึงตัวด้านสินเชื่อต่อภาคธุรกิจและครัวเรือน ทั้งนี้ ประธานเฟดระบุว่า “เฟดจะดำเนินนโยบายการเงินอย่างรอบคอบ” เพื่อให้เฟดสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ได้อย่างยั่งยืน
    • แม้ Dot Plot ใหม่ชี้ว่าเฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยต่อและเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานกว่าคาด (Higher for Longer) แต่เราคงมุมมองเดิมว่า เฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว และเฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยได้เร็วและมากกว่าที่ประเมิน หลังการจ้างงาน อัตราเงินเฟ้อต่างชะลอลง และภาวะสินเชื่อก็ยังมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงมากขึ้นกว่าคาด
    • Next FOMC Decision: Nov. 2 2023 (1 AM BKK)

คณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% แต่ก็พร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่อและคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้น

  • FOMC มองข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดสะท้อนการขยายตัวแข็งแกร่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยภาวะตลาดแรงงาน แม้จะชะลอลง แต่ก็ยังคงแข็งแกร่งอยู่ ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง และแม้ว่าระบบธนาคารสหรัฐฯ ยังมีความแข็งแกร่งอยู่ แต่ภาวะตึงตัวด้านสินเชื่อต่อภาคธุรกิจและครัวเรือน อาจยังคงส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และอัตราเงินเฟ้อได้ โดยผลกระทบดังกล่าวยังมีความไม่แน่นอน อนึ่งความเสี่ยงเงินเฟ้อยังคงเป็นสิ่งที่เฟดให้ความสำคัญอย่างมาก ดังนั้น คณะกรรมการจึงมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25-5.50% พร้อมกับเดินหน้าลดงบดุล โดย FOMC มีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่ระดับเป้าหมายที่ 2%
  • สำหรับการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตนั้น FOMC จะติดตามพัฒนาการข้อมูลเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด โดยคณะกรรมการพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินให้เหมาะสมกับสถานการณ์ หากพบว่ามีความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เฟดไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของนโยบายการเงินได้ ซึ่งเฟดจะติดตามทั้งข้อมูลด้านสาธารณสุข ตลาดแรงงาน ปัจจัยต่อเงินเฟ้อและคาดการณ์เงินเฟ้อ รวมถึงสถานการณ์ทางการเงินและสถานการณ์ในต่างประเทศ
  • ประธานเฟด ได้เน้นย้ำว่า แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะเริ่มชะลอตัวลง แต่การที่เฟดจะสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ได้นั้น อาจต้องใช้เวลาอีกนานซึ่งเป็นการย้ำจุดยืนของเฟด ที่ต้องการทำให้อัตราเงินเฟ้อนั้นกลับสู่ระดับเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

เรามองต่างจาก Dot Plot ใหม่ของเฟด และคงมุมมองเดิมว่า เฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว และการลดดอกเบี้ยอาจมาได้เร็วกว่าคาดหากเศรษฐกิจชะลอลงสวนทางกับคาดการณ์ของเฟด

  • แม้ว่าในการประชุมครั้งนี้ เฟดอาจมีการปรับมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้น แต่เรากลับมองว่า หากพิจารณาจากแนวโน้มการชะลอตัวลงของการจ้างงานสหรัฐฯ ทั้งจากยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ที่ลดลงต่อเนื่อง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ที่ลดลงและเห็นการปรับลดข้อมูลในภายหลัง (Downward Revision) อย่างต่อเนื่อง อาจชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจไม่ได้แข็งแกร่งมากนัก และมีความเป็นไปได้สูงว่า ชาวอเมริกันอาจเผชิญปัญหาการใช้จ่ายมากขึ้นในช่วงปลายปี เมื่อเงินออมส่วนเกิน (Excess Savings) ที่สะสมมาในช่วง COVID เริ่มลดลงไปมาก และถึงกำหนดต้องกลับมาจ่ายหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (Student Loans) ซึ่งเฉลี่ยเดือนละ 400 ดอลลาร์ต่อคน รวมถึงภาระหนี้อื่นๆ ทั้งหนี้บัตรเครดิต หนี้รถยนต์ (ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวมากขึ้น) จากภาพดังกล่าว ทำให้เราคงมุมมองเดิมว่า เฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว และ หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอลงได้จริง ตามคาด เรามองว่า Dot Plot ใหม่ของเฟดจะสะท้อนแนวโน้มการลดดอกเบี้ยลงได้เยอะกว่าประมาณการล่าสุดได้ ซึ่งข้อมูลที่เราจะจับตาอย่างใกล้ชิด คือ อัตราการว่างงาน โดยหากอัตราการว่างงานทยอยปรับตัวสูงขึ้น (สอดคล้องกับคาดการณ์การจ้างงานที่ชะลอลง) จนสูงกว่าระดับ 4.0% ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลง จนเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ได้ หากใช้ Sahm Rule ในการพิจารณา 
  • อย่างไรก็ดี เรายอมรับว่า กว่าที่จะเริ่มเห็นการชะลอตัวลงของข้อมูลเศรษฐกิจตามที่เราประเมินไว้นั้นอาจใช้เวลาพอสมควร เนื่องจากมีเพียง 25% ของภาคเอกชนของสหรัฐฯ ที่มีการกู้ยืมแบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัวหรือ Floating-rate ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่ ภาคเอกชนของฝั่งยุโรปอาจเผชิญแรงกดดันจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้มากกว่า เนื่องจากราว 70% ของภาคเอกชนมีการกู้ยืมแบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ทำให้เงินดอลลาร์อาจยังคงได้แรงหนุนจากภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ “ดูดี” กว่าภูมิภาคอื่นๆ (จนกว่าจะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ดีขึ้น) รวมถึง ท่าทีของเฟดที่จะยังคงส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้นานขึ้น จนกว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลเศรษฐกิจที่ชัดเจน (Higher for Longer) ซึ่งภาพดังกล่าว อาจกดดันให้ ค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าได้มากกว่าที่เราคาดได้นาน (Weaker for Longer) ซึ่งเราเตรียมปรับประมาณการค่าเงินบาทใหม่สำหรับปลายปีนี้และปีหน้า 
  • เราคงมุมมองที่เป็นบวกต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่จะได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของการท่องเที่ยว ทว่า แนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่ยังอยู่ในระดับสูงเริ่มกลับมาเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินบาท เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่นำเข้าพลังงานสุทธิ จึงมีความเสี่ยงที่ หากนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาน้อยกว่าที่เราประเมินไว้ ก็อาจทำให้ ดุลบัญชีเดินสะพัดอาจเกินดุลน้อยกว่าคาด หรือ เสี่ยงขาดดุลได้เล็กน้อย นอกจากนี้ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจกลับเข้ามาลงทุนในตลาดทุนไทยได้น้อยกว่าที่เคยประเมินไว้ ทำให้ถึงแม้ว่า เงินบาทอาจทยอยแข็งค่าขึ้นได้บ้าง แต่อาจไม่ได้แข็งค่าไปมากกว่าระดับ 33.50-34.00 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงสิ้นปีนี้ ส่วนในระยะสั้น เราปรับมุมมองใหม่ว่า โซน 36.50-37.00 บาทต่อดอลลาร์ อาจเป็นจุดอ่อนค่าสุดของเงินบาท เมื่อประเมินจาก Valuation ของเงินบาทล่าสุด

 

ความคิดเห็นล่าสุด

กำลังโหลดบทความถัดไป...
การเปิดเผยความเสี่ยง: การซื้อขายตราสารทางการเงินและ/หรือเงินดิจิตอลจะมีความเสี่ยงสูงที่รวมถึงความเสี่ยงต่อการสูญเสียจำนวนเงินลงทุนของคุณบางส่วนหรือทั้งหมดและอาจไม่เหมาะสมกับนักลงทุนทั้งหมด ราคาของเงินดิจิตอลแปรปรวนอย่างมากและอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกต่าง ๆ เช่น เหตุการณ์ทางการเงิน กฎหมายกำกับดูแล หรือ เหตุการณ์ทางการเมือง การซื้อขายด้วยมาร์จินทำให้ความเสี่ยงทางการเงินเพิ่มขึ้น
ก่อนการตัดสินใจซื้อขายตราสารทางการเงินหรือเงินดิจิตอล คุณควรตระหนักดีถึงความเสี่ยงและต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายในตลาดการเงิน ควรพิจารณาศึกษาอย่างรอบคอบในด้านวัตถุประสงค์การลงทุน ระดับประสบการณ์ และ การยอมรับความเสี่ยงและแสวงหาคำแนะนำทางวิชาชีพหากจำเป็น
Fusion Media อยากเตือนความจำคุณว่าข้อมูลที่มีในเว็บไซต์นี้ไม่ใช่แบบเรียลไทม์หรือเที่ยงตรงแม่นยำเสมอไป ข้อมูลและราคาที่แสดงไว้บนเว็บไซต์ไม่ใช่ข้อมูลที่ได้รับจากตลาดหรือตลาดหลักทรัพย์เสมอไปแต่อาจได้รับจากผู้ดูแลสภาพคล่องและดังนั้นราคาจึงอาจไม่เที่ยงตรงแม่นยำและอาจแตกต่างจากราคาจริงในตลาดซึ่งหมายความว่าราคานี้เป็นเพียงราคาชี้นำและไม่เหมาะสมสำหรับวัตถุประสงค์เพื่อการซื้อขาย Fusion Media และผู้ให้ข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้จะไม่รับผิดชอบใด ๆ สำหรับความเสียหายหรือการสูญเสียที่เป็นผลมาจากการซื้อขายของคุณหรือการพึ่งพาของคุณในข้อมูลที่มีในเว็บไซต์นี้
ห้ามใช้ จัดเก็บ ทำซ้ำ แสดงผล ดัดแปลง ส่งผ่าน หรือ แจกจ่ายข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้โดยไม่ได้รับการอนุญาตล่วงหน้าอย่างชัดแจ้งแบบเป็นลายลักษณ์อักษรจาก Fusion Media และ/หรือจากผู้ให้ข้อมูล ผู้ให้ข้อมูลขอสงวนสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและ/หรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ให้ข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้
Fusion Media อาจได้รับผลตอบแทนจากผู้โฆษณาที่ปรากฎบนเว็บไซต์โดยอิงจากปฏิสัมพันธ์ของคุณที่มีกับโฆษณาหรือผู้โฆษณา
เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษของเอกสารฉบับนี้เป็นเวอร์ชั่นหลักซึ่งจะเป็นเวอร์ชั่นที่เหนือกว่าเมื่อใดก็ตามที่มีข้อขัดแย้งไม่สอดคล้องตรงกันระหว่างเอกสารเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษกับเอกสารเวอร์ชั่นภาษาไทย