InfoQuest - สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันอังคาร (28 ก.พ.) โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ หลังมีรายงานว่าตัวเลขเงินเฟ้อในประเทศยุโรปปรับตัวสูงขึ้น
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 11.80 ดอลลาร์ หรือ 0.65% ปิดที่ 1,836.70 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 27.80 เซนต์ หรือ 1.34% ปิดที่ 21.071 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 13.60 ดอลลาร์ หรือ 1.44% ปิดที่ 955.50 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 7 ดอลลาร์ หรือ 0.5% ปิดที่ 1,420.90 ดอลลาร์/ออนซ์
รายงานระบุว่า อัตราเงินเฟ้อของฝรั่งเศสพุ่งขึ้นแตะระดับ 7.2% ในเดือนก.พ. จากระดับ 7.0% ในเดือนม.ค. ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของสเปนเพิ่มขึ้น 6.1% ในเดือนก.พ. สูงกว่าในเดือนม.ค.ที่ระดับ 5.9%
นิเทช ซาห์ นักวิเคราะห์จากบริษัทวิสดอมทรี (WisdomTree) แสดงความเห็นว่า หากไม่มีแรงกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์และการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ก็เชื่อว่านักลงทุนก็จะเข้าซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อและภาวะผันผวนทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะหนุนราคาทองให้ทะยานขึ้นเหนือระดับ 2,100 ดอลลาร์/ออนซ์ภายในสิ้นปี 2566 ได้ไม่ยาก
ข้อมูลจากสภาทองคำโลก (WGC) ระบุว่า ธนาคารกลางทั่วโลกซื้อทองคำเป็นทุนสำรองในปี 2565 รวมกันมากถึง 1,136 ตัน คิดเป็นมูลค่า 7 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นมูลค่าสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2510
คริสชัน โกพอล นักวิเคราะห์ของ WGC กล่าวว่า ธนาคารทั่วโลกต่างก็หันมาสำรองทองคำ เพราะเชื่อว่าทองคำจะยังคงมีมูลค่าท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก นอกจากนี้ ทองคำยังช่วยให้ธนาคารกลางสามารถกระจายความเสี่ยงที่นอกเหนือไปจากสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและดอลลาร์
อย่างไรก็ดี ตลอดทั้งเดือนก.พ. สัญญาทองคำร่วงลง 5.6% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงรายเดือนที่มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2564