InfoQuest - ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวแคบ ขณะที่การซื้อขายในตลาดถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ณ เวลา 20.33 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 33,990.46 จุด บวก 11.13 จุด หรือ 0.03%
ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงกว่า 200 จุดวานนี้ หลังจากเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยตามคาด แต่ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งภายในสิ้นปีนี้
นักลงทุนเทน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนก.ค. หลังการประชุมของเฟดวานนี้
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 71.9% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 25-26 ก.ค. และให้น้ำหนักเพียง 28.1% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25%
ทั้งนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) มีมติเป็นเอกฉันท์ในการประกาศคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวานนี้
การประกาศคงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ หลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 10 ครั้งติดต่อกันนับตั้งแต่ที่เฟดเริ่มวัฏจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.2565 ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 5.00%
ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (dot plot) เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 2 ครั้ง สู่ระดับ 5.6% หรือบ่งชี้กรอบอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.50-5.75% ภายในสิ้นปีนี้
นอกจากนี้ dot plot บ่งชี้ว่า อัตราดอกเบี้ยจะแตะระดับ 4.6% ในช่วงสิ้นปี 2567 และแตะระดับ 3.4% ในช่วงสิ้นปี 2568 โดยเพิ่มขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนมี.ค.ที่ระดับ 4.3% และ 3.1% ตามลำดับ
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่เฟดคาดว่าเฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2567 โดยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวม 1.00% ในปีดังกล่าว ขณะที่คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ระดับ 2.5%
ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนพ.ค. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าลดลง 0.1% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนเม.ย.
ยอดค้าปลีกได้รับแรงหนุนจากยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น
ส่วนยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง และอาหาร เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนพ.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนเม.ย.
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกอยู่ที่ระดับ 262,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า และเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2564
ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 235,000 ราย
ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 9,000 ราย สู่ระดับ 246,750 ราย ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2564
ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง เพิ่มขึ้น 20,000 ราย สู่ระดับ 1.78 ล้านราย