InfoQuest - ราคาทองฟิวเจอร์ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดดิ่งลงกว่า 30 ดอลลาร์ หลุดระดับ 2,400 ดอลลาร์ ขณะที่นักลงทุนพากันขายทำกำไร หลังราคาพุ่งขึ้นก่อนหน้านี้
ณ เวลา 22.02 น.ตามเวลาไทย สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลบ 32.40 ดอลลาร์ หรือ 1.34% สู่ระดับ 2,393.50 ดอลลาร์/ออนซ์
ราคาทองยังถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
ทั้งนี้ ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นจะลดความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น ขณะที่การดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย
นอกจากนี้ ราคาทองยังได้รับผลกระทบจากการที่นักลงทุนกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาดไว้
นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในสมาชิกบอร์ดผู้ว่าการเฟด และเป็นสมาชิกถาวรของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) กล่าวว่า เขาไม่คิดว่าเฟดมีความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกต่อไป เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจหลายตัวในช่วงที่ผ่านมาดูเหมือนบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อกำลังชะลอตัวลง
อย่างไรก็ดี นายวอลเลอร์กล่าวว่า เขายังไม่พร้อมที่จะสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยเขาต้องการเห็นหลักฐานที่จะสร้างความมั่นใจมากขึ้น ก่อนที่จะดำเนินการดังกล่าว
"เศรษฐกิจดูเหมือนกำลังปรับตัวเข้าใกล้กับที่เฟดคาดการณ์ไว้ แต่เนื่องจากตลาดแรงงานยังคงมีความแข็งแกร่ง ผมจึงจำเป็นต้องเห็นตัวเลขเงินเฟ้อที่ดีเป็นเวลาหลายเดือน ก่อนที่จะสนับสนุนการผ่อนคลายนโยบายการเงิน" นายวอลเลอร์กล่าวนายวอลเลอร์ปฏิเสธที่จะเปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ของเขาเกี่ยวกับกำหนดเวลาและขนาดของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด แต่ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักเกือบ 70% ต่อการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของปีนี้อย่างน้อย 0.25% ในเดือนก.ย.
ตลาดจับตารายงานการประชุมนโยบายการเงินของเฟดประจำวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค. ซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันนี้ รวมทั้งดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่จะมีการเปิดเผยในวันที่ 31 พ.ค. เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้กำหนดเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ โดยสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)