InfoQuest - ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (21 ก.พ.) โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ความแข็งแกร่งของดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจในสหรัฐจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นเวลานานขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.31% แตะที่ 104.1723
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 134.95 เยน จากระดับ 134.14 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9274 ฟรังก์ จากระดับ 0.9245 ฟรังก์
นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3533 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3468 ดอลลาร์แคนาดา แต่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.3603 โครนา จากระดับ 10.4456 โครนา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0649 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0698 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2109 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2049 ดอลลาร์
เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นเดือนก.พ.ของสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับ 50.2 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน จากระดับ 46.8 ในเดือนม.ค. โดยดัชนีที่สูงกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐมีการขยายตัว
นักลงทุนมองว่า ข้อมูลล่าสุด รวมทั้งข้อมูลที่มีการเปิดเผยในช่วงที่ผ่านมานั้น บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐและอาจส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้
ข้อมูลล่าสุดของ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมี.ค., พ.ค. และมิ.ย. ครั้งละ 0.25% สู่ระดับสูงสุดที่ 5.25-5.50% และตรึงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ที่ระดับดังกล่าว ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนธ.ค.
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยรายงานการประชุมเฟดประจำวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ.ในวันนี้ (22 ก.พ.) ตามเวลาสหรัฐ รวมทั้งดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนม.ค.ในวันศุกร์ที่ 24 ก.พ. เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)