InfoQuest - นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้ อยู่ที่ระดับ 34.55/57 บาท/ดอลลาร์ ใกล้เคียงจาก ช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 34.55 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันเงินบาทยังแกว่งอยู่ในกรอบแคบ ซึ่งวันนี้กระทรวงพาณิชย์รายงานเงินเฟ้อเดือนก.พ.ออกมาที่ 3.79% ก็ถือว่า ชะลอตัวลงตามที่ตลาดคาดการณ์ จึงไม่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในระหว่างวันมากนัก โดยคืนนี้ตลาดรอดูปัจจัยใหม่ เพื่อจับสัญญาณที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะกล่าวถ้อยแถลงนโยบายการเงิน และ ภาวะเศรษฐกิจต่อสภาคองเกรส "หากประธานเฟดมองว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังรุนแรง และส่งสัญญาณที่จะเร่งขึ้นดอกเบี้ย ก็จะทำให้เงินบาทอ่อนค่า ให้แนวต้าน ที่ 34.80-34.90 แต่ถ้ามองว่าเงินเฟ้อไม่น่ากังวลแล้ว และเฟดไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ย เงินบาทก็อาจแข็งค่าขึ้นไปที่ 34.40 ได้" นักบริหาร เงินระบุ นักบริหารเงิน คาดว่า พรุ่งนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 34.45 - 34.65 บาท/ดอลลาร์
* ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 135.88/90 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 136.06 เยน/ดอลลาร์ - เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0655/0659 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.0683 ดอลลาร์/ยูโร - ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,618.51 จุด เพิ่มขึ้น 11.63 จุด (+0.72%) มูลค่าการซื้อขาย 57,541 ล้านบาท - สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 1,156.14 ลบ.(SET+MAI) - กระทรวงพาณิชย์ เผยเงินเฟ้อก.พ. เพิ่มขึ้น 3.79% ชะลอตัวลงจากเดือนม.ค. ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในระดับ ต่ำสุดในรอบ 13 เดือน จากสาเหตุหลัก คือ ราคาพลังงานและอาหารสดที่ปรับตัวลดลงเป็นสำคัญ โดยมองว่าเงินเฟ้อเข้าสู่ช่วงขาลงแล้ว และคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลัง มีโอกาสจะได้เห็นเงินเฟ้อเข้าใกล้ระดับ 0% ขณะที่คาดว่าเงินเฟ้อไตรมาส 1/66 จะไม่เกิน 4% - สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า ภาวะการส่งออกของไทยในเดือน ม. ค.66 ที่หดตัว -4.5% สอดคล้องกับที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นผลจากเทศกาลตรุษจีนปีนี้มาเร็ว ทำให้การส่งออกไปจีนมีเวลาจำกัดจึงหดตัวลด ลง -11% และการชะลอคำสั่งซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เนื่องจากมีปริมาณสินค้าคงคลังที่กักตุนไว้ก่อนหน้านี้เหลืออยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่ง สถานการณ์ส่งออกในเดือน ม.ค.66 น่าจะเป็นจุดต่ำสุดไปแล้ว - นักวิเคราะห์ของซิตี้กรุ๊ปคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.5% ในการประชุม เดือนมี.ค.และเดือนพ.ค. ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ECB พุ่งขึ้นแตะระดับ 4% ภายในเดือนก.ค. - แบงก์ ออฟ อเมริกา คาดเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคในไตรมาส 3/55 แต่ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจที่ ถดถอยดังกล่าวจะไม่รุนแรง เนื่องจากเป็นการชะลอตัวของภาคธุรกิจ แต่ภาคของผู้บริโภคยังอยู่ในภาวะที่ดี พร้อมคาดการณ์ว่าอัตรา ดอกเบี้ยจะเริ่มลดลงในไตรมาส 2 ของปี 67