เคยสงสัยไหมว่า ทำไมธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือที่เราเรียกสั้นๆ กันว่า Fed ต้องมาคอยขึ้นสิ่งที่เรียกว่า ‘ดอกเบี้ยนโยบาย’ อยู่ตลอด โดยเฉพาะในช่วงที่มีสภาวะเงินเฟ้อหนักๆ เฟดจะมายุ่งอะไร? แล้วเจ้าอัตราดอกเบี้ยนโยบายคืออะไร? มันจะมาช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้ยังไง? เอาละ วันนี้เราจะมาอธิบายกันให้ฟัง
เงินเฟ้อคืออะไร? ทำไมถึงเกิดขึ้น?
Key Takeaway: Demand สูงกว่า Supply
ก่อนอื่นต้องเท้าความกันก่อน เงินเฟ้อเนี่ย มันเกิดจากการที่ดีมานด์ (Demand) กับซัพพลาย (Supply) ของสิ่งต่างๆ ไม่สัมพันธ์กัน
หลักๆ เลยก็คือดีมานด์ หรือ ‘ความต้องการซื้อ’ มันมากกว่าซัพพลาย หรือ ‘ความต้องการขาย’ และเมื่อความต้องการซื้อมากกว่าความต้องการขายจะเกิดอะไรขึ้น? สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้นจากคนแย่งกันซื้อ อันนี้แหละก็คือการเกิดเงินเฟ้อแบบง่ายๆ
นั่งจึงหมายถึงยิ่ง Demand สูงกว่า Supply เท่าไร ก็มักจะเท่ากับเงินเฟ้อของสิ่งนั้นๆ สูงขึ้นเท่านั้น
ยกตัวอย่างใกล้ตัวก็เช่น Playstation 5 หรือ PS5 ที่เกมเมอร์รอซื้ออยู่กันอยู่ทั้งโลก แต่ Sony กลับผลิตออกมาไม่พอซักที ทำให้ทีนี้คนที่ซื้อได้ ซื้อทัน ก็เอาไปขายต่อโก่งราคาจนแพงลิบลิ่วจากของมือ 1 แต่ทั้งนี้ก็ยังมีคนซื้ออยู่ดีเพราะดีมานด์มันยังสูงอยู่ยังไงละ
แต่สิ่งที่กำลังเกิดอยู่ตอนนี้เนี่ยมันไม่ใช่แค่ PS5 แต่มันกำลังเกิดกับน้ำมันดิบ, วัฒถุดิบอาหาร, ค่าเช่าทั่วสหรัฐฯ, ค่าไฟ รวมไปถึงอะไรอีกมากมายที่ยังไม่ได้กล่าวถึง แล้วสังเกตไหมว่ามันเป็นอะไรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในยุคนี้ แน่นอนจะลด Demand ของสิ่งเหล่านี้มันก็พอทำได้แหละ แต่จะให้เลิกใช้ไปเลยก็คงไม่ได้
นอกจากนี้แล้วในฝั่งของผู้ประกอบการก็ยังมีราคารถยนต์, ราคาอสังหาริมทรัพย์, ราคาวัตถุดิบการผลิต, ค่าขนส่ง ฯลฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากเงินเฟ้อ ก็เป็นต้นตอทำให้ของกินของใช้ของผู้บริโภคอย่างเราสูงขึ้น
ทีนี้น่าจะพอเห็นภาพกันแล้วว่าเงินเฟ้อคืออะไร มันส่งผลกระทบยังไงต่อคนธรรมดาอย่างเราๆ บ้าง ทีนี้มาเข้าประเด็นกัน แล้วการ ‘ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย’ เนี่ยมันคืออะไร แล้วมันจะช่วยอะไรเรื่องเงินเฟ้อได้ยังไง
‘ดอกเบี้ยนโยบาย’ คืออะไร?
Key Takeaway: อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดโดยธนาคารกลาง และเป็นตัวกำหนดว่าเราต้องจ่ายดอกมาก-น้อยแค่ไหนถ้าเรากู้ธนาคาร
ก่อนจะไปต่อว่าดอกเบี้ยนโยบายจามาช่วยเงินเฟ้อยังไง ก็คงต้องมารู้จักกับดอกเบี้ยนโยบายกันก่อน…
ดอกเบี้ยนโยบาย ก็คืออัตราดอกเบี้ยที่ถูกกำหนดโดยธนาคารของแต่ละประเทศ ถ้าอเมริกาก็เฟด ถ้าไทยก็แบงก์ชาติ โดยจะเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางกำหนดเพื่อที่จะเรียกเก็บจากธนาคารพานิชย์ต่างๆ ที่เข้ามากู้ยืม ซึ่งก็จะส่งผลกระทบเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพานิชย์จะเรียกเก็บกับลูกค้าต่อไป
“อัตราดอกเบี้ยนโยบายกำหนดโดยธนาคารกลาง เป็นอัตราดอกเบี้ยที่สำคัญที่สุดที่จะส่งผลกับอัตราดอกเบี้ยอื่น ๆ ในระบบเศรษฐกิจ”
“อัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นอัตราที่ธนาคารกลางจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารพาณิชย์ที่เอาเงินมาฝาก หรือเป็นอัตราที่ธนาคารกลางเก็บดอกเบี้ยจากธนาคารพาณิชย์ที่มากู้เงิน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลกับอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์คิดกับลูกค้าที่เป็นผู้กู้หรือผู้ฝากเงินต่อไป”ธนาคารแห่งประเทศไทย อธิบายความหมายของดอกเบี้ยนโยบาย
ดังนั้นก็เรียกได้ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก็คือสิ่งที่จะกำหนดว่าธนาคารจะเก็บดอกเบี้ยจากลูกค้ามากน้อยเท่าไรนั่นเอง ก็จะเท่ากับว่าถ้าธนาคารกลางประกาศ ‘ขึ้น’ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย เราก็จะโดนเก็บดอกมากขึ้นถ้าไปกู้ธนาคาร
Fed ใช้แก้ ‘เงินเฟ้อ’ ยังไง?