InfoQuest - ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (23 ม.ค.) ขานรับถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงกว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นอกจากนี้ ยูโรยังได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยุโรป หลังการร่วงลงของราคาก๊าซธรรมชาติ
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.1% แตะที่ 102.1140
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0860 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0854 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2371 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2396 ดอลลาร์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 130.66 เยน จากระดับ 129.59 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9223 ฟรังก์ จากระดับ 0.9204 ฟรังก์
อย่างไรก็ดี ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3383 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3384 ดอลลาร์แคนาดา และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.2548 โครนา จากระดับ 10.2867 โครนา
ในระหว่างวัน ยูโรพุ่งแตะระดับ 1.0927 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2565 หลังจากที่นายคลาส นอต และนายปีเตอร์ คาซิเมียร์ ซึ่งเป็นกรรมการ ECB กล่าวสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมนโยบายการเงินเดือนก.พ.และมี.ค. โดยเป็นการส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่รุนแรงกว่าเฟด ซึ่งคาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในการประชุมวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ.
ด้านนางคริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB กล่าวว่า ECB จะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานเท่าที่มีความจำเป็น เพื่อกดดันให้เงินเฟ้อปรับตัวลงสู่เป้าหมาย 2% ของ ECB
ECB ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนธ.ค. 2565 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกัน หลังจากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนก.ค. และ 0.75% ทั้งในเดือนก.ย.และต.ค. โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ค.ถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2543
นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงการเปิดเผยตัวเลขประมาณการเบื้องต้นของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 4/2565 ในวันพฤหัสบดีนี้ และการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันศุกร์
ทั้งนี้ ดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค อีกทั้งมีความครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)