InfoQuest - สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันศุกร์ (2 ก.พ.) และปรับตัวลงรายสัปดาห์ หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานพุ่งขึ้นเกินคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงยาวนานกว่าที่คาดไว้ และอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการน้ำมันดิบ นอกจากนี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงในจีนและความเป็นไปได้ที่ความตึงเครียดในตะวันออกกลางอาจลดลงนั้น ทำให้มีแรงขายสัญญาน้ำมันดิบออกมา
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วงลง 1.54 ดอลลาร์ หรือ 2.1% ปิดที่ 72.28 ดอลลาร์/บาร์เรล และร่วงลงเกือบ 7.4% ในรอบสัปดาห์นี้
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 1.37 ดอลลาร์ หรือ 1.7% ปิดที่ 77.33 ดอลลาร์/บาร์เรล และร่วงลง 6.8% ในรอบสัปดาห์นี้
ทั้งสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์และสัญญาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ระดับต่ำสุดในรอบราว 3 สัปดาห์และปรับตัวลงรายสัปดาห์มากที่สุดนับตั้งแต่ต้นเดือนต.ค.
อัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงในประเทศรายใหญ่ อาทิ สหรัฐและยูโรโซนนั้น ดูเหมือนจะยังคงดำเนินต่อไปในระยะสั้น ซึ่งมีแนวโน้มจะสกัดกั้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความต้องการน้ำมัน
การเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานที่แข็งแกร่งเกินคาดของสหรัฐนั้นได้ลดโอกาสที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในระยะใกล้นี้
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 353,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 187,000 ตำแหน่ง และอัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 3.7% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.8%
ปัจจัยที่กดดันราคาน้ำมันดิบยังได้แก่เหตุการณ์ไฟดับที่โรงกลั่นน้ำมันของบริษัทบีพีในเมืองไวทิง รัฐอินเดียนา โดยมีรายงานว่าโรงงานดังกล่าวกลับมามีไฟฟ้าใช้อีกครั้งแล้วในช่วงเที่ยงวันศุกร์ตามเวลาสหรัฐ แต่ทางบีพียังไม่ได้กำหนดวันที่จะเริ่มการผลิตอีกครั้งเมื่อใด
นอกจากนี้ ความวิตกเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และแนวโน้มการทำข้อตกลงหยุดยิงระหว่างกลุ่มฮามาสและอิสราเอลนั้น ได้กระตุ้นแรงขายสัญญาน้ำมันดิบด้วย