BeInCrypto - ในทุกๆ ตลาดสินทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็น คริปโตเคอเรนซี่ หลักทรัพย์ หรือ สินค้าโภคภัณฑ์ การซื้อขายย่อมเป็นไปตามกลไกของตลาดของ อุปสงค์ และ อุปทาน ซึ่งในการเทรดมักเรียกว่า Demand Supply Zone นักเทรดสามารถวิเคราะห์เพื่อหาจุดเข้าสะสมและขายทำกำไรได้หากมีความรู้ที่เหมาะสม
การวิเคราะห์อุปสงค์และอุปทาน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทั้งนักลงทุนระยะยาว และนักเก็งกำไรระยะสั้น ซึ่งในปัจจุบันนับเป็นศาสตร์หนึ่งของ Technical Analysis หรือ การวิเคราะห์เชิงเทคนิคผ่านกราฟราคา บทความนี้จะทำให้ผู้อ่านรู้จักแนวคิด และวิธีการนำไปประยุกต์ใช้เบื้องต้น
Table of Contents
- Demand Supply Zone คืออะไร
- รูปแบบของ Demand Zone
- รูปแบบของ Supply Zone
- การวิเคราะห์ความแข็งแกร่งของ Demand Supply Zone
- จุดเข้าเทรดสำหรับการใช้ Demand Supply Zone
- สรุป
Demand Supply Zone คืออะไร
หากแปลอย่างตรงตัวแล้ว มันคือ โซนที่อุปสงค์หรือ โซนที่มีความต้องการซื้อ (Demand Zone) และอุปทาน หรือ โซนที่มีความต้องการขาย (Supply Zone) เกิดขึ้น แต่ในแง่หนึ่งมันเป็นความหมายเชิงจิตวิทยาที่อยู่เบื้องหลังแนวคิดเรื่อง “แนวรับและแนวต้าน” (Support & Resistance) เวลาที่คุณตีเส้นบนกราฟราคา Price Action นั่นเอง
เมื่อคุณสามารถตีความ แนวรับและแนวต้านด้วยหลักการของจิตวิทยาตลาดเบื้องหลังได้แล้ว คำสบประมาณที่ว่า “เส้นต่างๆ ในกราฟไม่มีความหมาย เป็นแค่จิตนาการ” ก็จะไม่เป็นจริงอีกต่อไป เพราะการเคลื่อนไหวของราคาเป็นสิ่งสะท้อนที่ความคิดของผู้ซื้อและผู้ขายในแต่ละชั่วขณะนั้นๆ
รูปแบบของ Demand Zone
โซนของความต้องการซื้อจะมีรูปแบบเบื้องต้น 2 รูปแบบ ดังนี้
- Drop Base Rally (DBR)
DBR จะเกิดขึ้นเมื่อเกิดเทรนขาลง (Drop) มาก่อน แล้วเกิดการพักตัวที่เรียกว่า (Base) และกลับตัวเปลี่ยนเป็นเทรนขาขึ้น (Rally) รูปแบบนี้ ส่งสัญญาณว่าอาจมีการกลับตัวของเทรนขาลงเกิดขึ้นแล้ว โดยจุดที่เป็น Base แสดงถึงความต้องการซื้อที่มากขึ้น และความต้องการขายชะลอตัวจนถึงจุดสมดุล ทำให้เกิดแนวรับ
- Rally Base Rally (RBR)
RBR จะเกิดขึ้นในช่วงที่เทรนเป็นขาขึ้น (Rally) และเกิดการพักตัวระหว่างเทรน (Base) นัยยะหนึ่งคือ มีผู้คนกลุ่มหนึ่งเลือกเก็บกำไรบางส่วนเพื่อป้องกันความเสี่ยง แต่ในขณะเดียวกันยังมีผู้ต้องการซื้อที่อาจพลาดจากเทรนขาขึ้นครั้งแรกเข้ามาเพิ่มเติม ทำให้เกิดเทรนขาขึ้นต่อไป (Rally)
รูปแบบของ Supply Zone
โซนของความต้องการขายจะมีรูปแบบเบื้องต้น 2 รูปแบบ ดังนี้
- Rally Base Drop (RBD)
RBD จะเกิดขึ้นเมื่อเกิดเทรนขาขึ้น (Rally) มาก่อน แล้วเกิดการพักตัวที่เรียกว่า (Base) และกลับตัวเปลี่ยนเป็นเทรนขาลง (Drop) รูปแบบนี้ ส่งสัญญาณว่าอาจมีการกลับตัวของเทรนขึ้นลงเกิดขึ้นแล้ว โดยจุดที่เป็น Base แสดงถึงความต้องการขายที่มากขึ้น และความต้องการซื้อชะลอตัวจนถึงจุดสมดุล ทำให้เกิดแนวต้าน
- Drop Base Drop (DBD)
DBD จะเกิดขึ้นในช่วงที่เทรนเป็นขาลง (Drop) และเกิดการพักตัวระหว่างเทรน (Base) นัยยะหนึ่งคือ มีผู้คนกลุ่มหนึ่งมองว่าราคาเริ่มต่ำกว่าความเป็นจริงและเริ่มเข้าสะสม แต่ในขณะเดียวกันยังมีผู้ต้องการขายที่มากกว่าทำให้ราคาร่วงต่อเป็นเทรนขาลงต่อไป (Drop)
การวิเคราะห์ความแข็งแกร่งของ Demand Supply Zone
หลังจากเราเรียนรู้รูปแบบเบื้องต้นแล้ว เรายังสามารถวิเคราะห์รายละเอียดเชิงลึกเพื่อพิจารณาความแข็งแกร่งของรูปแบบที่เกิดขึ้นได้อีกด้วยผ่านการศึกษาเครื่องมือการวิเคราะห์เชิงเทคนิค
- วิเคราะห์แท่งเทียน (Candle Stick Analysis)
ประการแรกคือ “ลักษณะของโซนและแท่งเทียน” Narrow Price Range หรือ ไส้เทียนที่ยาวแต่การแกว่งของราคาอยู่ในกรอบแคบๆ หากเลือก Time Frame ที่ยาวขึ้นอาจเห็นเป็นแท่งตระกูล Doji ซึ่งเป็นแท่งเทียนชนิดหนึ่ง กรอบที่แคบแสดงถึงราคาที่ยังไม่สามารถเลือกทิศทางได้และมีความผันผวนและไม่แน่นอนสูง
เมื่อมันสะท้อนถึงความมั่นใจที่ไม่มากนัก จึงอาจไม่ใช่โซนที่เหมาะแก่การเข้าสะสมสินทรัพย์สักเท่าไหร่ และยังเสี่ยงต่อการ Fake breakout ล่า Stop Loss อีกด้วย ทว่า หากแท่งเทียนเป็นแท่งยาวและทำ Breakout ออกจากกรอบและแทบไม่มีไส้เทียน นั้นหมายความว่า แรงซื้อแข็งแกร่งมากและมีโอกาสพัฒนาเป็นเทรนสูง
- วิเคราะห์ระยะเวลาและสัดส่วน (Proportion Analysis)
หากคุณเริ่มมองเห็นการก่อตัวของ Base ให้คุณสังเกตระยะเวลาก่อนการ Breakout เป็นเทรนให้ดี โดยทั่วไปหากราคาอยู่นิ่งเป็นเวลามากเกินควร นั่นหมายความว่า ราคาไม่สามารถไปต่อได้และเป็นสัญญาณของการกลับตัวของเทรนที่อาจเกิดขึ้น
วิธีการพิจารณามีหลากหลายรูปแบบ ว่าแพทเทิร์นที่เกิดขึ้นกินระยะเวลานานเกินไปไหม แต่รูปแบบที่นิยมคือ การเทียบเคียงแบบสัมพัทธ์ (Relatively) เช่น หากเทรนขาลงก่อนหน้าอาจใช้เวลา 5 แท่งเทียน แต่ราคากลับมาพักตัวเป็นโซนนานกว่า 10 แท่งเทียน นั่นอาจหมายความว่า แรงขายได้หมดลงแล้ว เมื่อมีความต้องการซื้อหรือข่าวดีเข้ามา ราคาพร้อมจะ Breakout เป็นขาขึ้นทันที
- การทดสอบของแนวรับและแนวต้าน
โดยทั่วไปแล้ว หากราคา Breakout ออกจากกรอบ การย่อกลับลงมาทดสอบที่แนวรับและแนวต้าน เป็นสัญญาณที่ไม่ดีสักเท่าไหร่ เพราะมันหมายความว่า ยังมีแรงขายหลงเหลืออยู่จากช่วงเวลาก่อนหน้ามากพอที่จะกลับมาทดสอบโซนที่ทะลุไปแล้ว
ยิ่งมีการทดสอบหลายครั้ง ยิ่งหมายความว่าแรงเทขายยังคงหลงเหลืออยู่มากเท่านั้นและมีโอกาสที่จะเกิด False Breakout ทะลุแนวรับเก่าได้ แต่ในแง่หนึ่งมันหมายความว่า แนวรับนั้นมีความสำคัญเชิงจิตวิทยาสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อจริง อย่างไรก็ตามการ Breakout และไม่กลับมาทดสอบย่อมแสดงถึงความแข็งแกร่งที่มากกว่าอย่างชัดเจน
จุดเข้าเทรดสำหรับการใช้ Demand Supply Zone
อ้างอิงจากรูปแบบของ Demand Zone ข้างต้น เราสามารถกำหนดกลยุทธ์ในการเข้าถือครองสถานะได้ ว่าควรเข้าซื้อ Take Profit และ ตั้ง Stop Loss ณ จุดใดที่ความเสี่ยงต่ำที่สุดและคุ้มค่ากับกำไรที่มีโอกาสสำเร็จสูงดังนี้
- การเทรด DBR และ RBR
เมื่อเรามองเห็นแพทเทิร์น DBR และ RBR แล้ว นักเทรดสามารถเข้าซื้อเมื่อราคาใกล้เคียงกับแนวรับมากที่สุด ยิ่งใกล้ยิ่งลดความเสียหายในกรณีที่การวิเคราะห์ผิดพลาดได้มากเท่านั้น และกำหนดจุดทำกำไรเป็นแนวต้านเก่า
- การเทรด RBD และ DBD
แพทเทิร์นทั้ง 2 นี้เป็นแพทเทิร์นขาลงจึงควรใช้กับการถือสถานะ Short ในตลาด Futures โดยแนวคิดมีลักษณะเดียวกันกับการเทรดในช่วงขาขึ้นแต่กลับหัว หมายความว่า คุณควรเปิดสถานะให้ใกล้กับแนวต้านมากที่สุด เพื่อลดความเสียหายหากวิเคราะห์ผิดพลาด และปิดสถานะเมื่อราคาปะทะกับแนวรับเก่านั่นเอง
สรุป
หลังจากที่เราเรียนรู้จิตวิทยาเบื้องหลังตลาดผ่านการศึกษา Demand Supply Zone หรือ อุปสงค์ และ อุปทาน ในการเทรดแล้ว นักลงทุนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลาย และอาจทำให้มีความเข้าใจในเทคนิคอื่นๆ มากขึ้น เช่น ทฤษฎี Dow, ทฤษฎี Wyckoff และ ทฤษฎี Elliot Wave เพราะโครงสร้างของแนวคิดเหล่านี้ ล้วนมาจากการวิเคราะห์จิตวิทยาตลาดที่พัฒนาต่อยอดขึ้นไปจากแนวคิดเรื่องโซนอุปสงค์และอุปทานเป็นทฤษฎีที่มีความซับซ้อนมากขึ้นความเข้าใจเหล่านี้อาจยกระดับการเทรด Cryptocurrencies ของคุณขึ้นไปได้อีกระดับก็เป็นได้