3 เรื่องที่นักลงทุนไทยควรรู้สำหรับวันนี้ ( 9 ก.ย.)
โดย Detchana.K
Investing.com - ผลการวิจัยเปรียบเทียบระหว่างตลาดหุ้นไทย กับตลาดหุ้นสหรัฐ ที่ได้มีการศึกษามาตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมปีนี้พบว่า การเคลื่อนไหวของทั้งสองตลาดมีความสัมพันธ์กันน้อย นอกจากนี้พบว่าตลาดหุ้นทั่วโลกไม่ได้ปรับฐานไปในทางเดียวกัน และมีเพียง 40% ที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวก ติดตามรายละเอียดพร้อมประเด็นสำคัญที่นักลงทุนไทยควรรู้สำหรับวันนี้
1.ตั้งแต่ ก.ค.63 เป็นต้นมา ดูเหมือนว่า ตลาดหุ้นไทยกับตลาดหุ้นสหรัฐไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน
ตลาดหุ้นสหรัฐ Dow Jones, S&P500, NasDaq นับตั้งแต่จุดต่ำสุดเมื่อวันที่ 23 มี.ค. ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง-ปัจจุบัน ราว 82% หลักๆขึ้นมาจากหุ้นกลุ่ม Tech อาทิ Facebook Apple (NASDAQ:AAPL)
ฯลฯ ล่าสุดเมื่อคืนที่ผ่านมาตลาดหุ้น สหรัฐปรับฐานแรงเฉลี่ย 2 % คาดว่าเป็นผลจากการ Take Profit และความกังวลเรื่องสงครามการค้าสหรัฐ-จีน
ฝ่ายวิจัย บล.เอเชียพลัสได้ทําการศึกษาความสัมพันธ์ตลาดหุ้นสหรัฐฯ กับ SET Index นับตั้งแต่ 23 มี.ค. 63(Low ของ SET Index) จนถึงปัจจุบัน พบว่าในช่วงหลังไม่ได้ไปใน
ทิศทางเดียวกัน คือ ตั้งแต่เดือน ก.ค. ตลาดหุ้นสหรัฐปรับเพิ่มขึ้นต่อ ขณะที่ตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวออกข้าง
และหากพิจารณาค่าสหสัมพันธ์(Correlation) ในช่วง 23 มี.ค. - ปัจจุบัน ซึ่งใช้วิเคราะห์ทิศทางความสัมพันธ์ตลาดหุ้น 2 ตลาด(Correlation จะมีค่าในช่วง -1.0 ถึง +1.0 หากใกล้
1 หมายความว่า 2 ตลาดมีความสัมพันธ์โดยตรงอย่างมาก) พบว่า SET Index กับตลาดหุ้นสหรัฐ (Dow jones (INDU) , S&P500(SPX) มี Correlation 0.295-0.305
แปลว่ามีความสัมพันธ์กันน้อย แต่พบว่า SET Index มี Correlation กับตลาดหุ้นกลุ่ม TIPS มากกว่า คือ มี Correlation 0.503-0.597
เมื่อพิจารณาผลตอบแทนของตลาดหุ้นทั่วโลก 93 ตลาด นับตั้งแต่ต้นเดือน-ปัจจุบัน (mtd) พบว่ามี 56 ตลาด ราว 60% ที่ Return ตลาดหุ้น ติดลบ ที่เหลืออีก 37 ตลาดราว 40% Return ตลาดหุ้นเป็นบวกอยู่ บ่งชี้ได้ว่าตลาดหุ้นทั่วโลกไม่ได้ปรับฐานไปในทิศทางเดียวกันหมด
2.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจส่งสัญญาณชะลอ การเมืองเริ่มมีความเสี่ยง
ที่ประชุม ครม. วานนี้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมตามที่ ศบศ. เสนอทั้งกระตุ้นการจ้างงานและการท่องเที่ยว แต่ภูเก็ตโมเดล และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย 3,000 บาท รวมถึงมาตรการกระตุ้นกลุ่มอสังหาฯและรถยนต์ ยังไม่มีข้อสรุป โดยคาดว่าจะออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมได้ใน ต.ค. 63 ทำให้เศรษฐกิจเดือน ก.ย. 63 มีแนวโน้มกลับไปทรุดชั่วคราวจากการชะลอการใช้จ่ายเพื่อรอรายละเอียดที่ชัดเจน
ทั้งนี้มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวผ่านภูเก็ตโมเดล และมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์รวมถึงรถยนต์ยังไม่มีการพิจารณา โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษารายละเอียด ซึ่งภูเก็ตโมเดลต้องรอความพร้อมของคนในพื้นที่ จึงต้องเลื่อนจาก ต.ค. 63 ไปเป็นอย่างเร็ว พ.ย. 63 ซึ่งการชะลอหลายมาตรการใหม่ โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นสินค้าคงทน ทำให้กลุ่มอสังหาฯและยานยนต์ถูกกดดันเชิง Sentiment ชั่วคราว เพราะยอดขายเดือน ก.ย. 63 มีโอกาสทรุดตัวก่อนจะกลับมาฟื้นเมื่อมีรายละเอียดของมาตรการกระตุ้นที่ชัดเจน
สำหรับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญครม.เห็นชอบให้ยกร่าง พ.ร.บ. ออกเสียงประชามติ คาดใช้งบประมาณราว 4-5 พันลบ. อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะเห็นด้วยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ขั้นตอน รูปแบบ และระยะเวลาอาจไม่ทันใจกลุ่มผู้เห็นต่าง กอปรกับ ฝั่งรัฐบาลและ ส.ว. เริ่มเสียงแตกในแนวทางการแก้ไข ว่าจะให้ลดบทบาทของ ส.ว. ก่อนตั้ง สสร. หรือตั้ง สสร.แล้วค่อยลดบทบาทภายหลัง ในเมื่อแนวทางการแก้ไขยังไม่ชัด และมีกระแสการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นระยะ บล.หยวนต้ามีมุมมองเป็นลบกับปัจจัยการเมืองในประเทศมากขึ้น และคาดว่าจะกดดัน SET INDEX
3. อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนสิงหาคมอยู่ที่ -0.50% สะท้อนอุปสงค์ภายในประเทศยังคงอ่อนแอ
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนสิงหาคมอยู่ที่ -0.50% YoY เทียบกับ -0.98% เดือนก่อน ผลจากราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มสูงขึ้น (+1.62%) ตามการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสด โดยเฉพาะราคาผักสดที่สูงสุดในรอบ 13 เดือน จากฝนตกชุก ขณะที่ราคาสินค้าในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มยังติดลบต่อเนื่องเป็นเดือน ที่ 7 (-1.73%)จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาหมวดอาหารสดและพลังงาน) อยู่ที่ 0.30% เทียบกับ 0.39%
ในเดือนกรกฎาคม
สำหรับในช่วง 8 เดือนแรกของปี (มกราคม-สิงหาคม) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ -1.03% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.33% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทยอยติดลบน้อยลงส่งสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างช้าๆ อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ทรงตัวในระดับต่ำสะท้อนอุปสงค์ภายในประเทศยังคงอ่อนแอ อีกทั้งปัจจัยลบจากตลาดแรงงานยังมีความ
เปราะบางอาจกดดันกำลังซื้อและการใช้จ่ายภายในประเทศในระยะถัดไป
ศูนย์วิจัยกรุงศรีเปิดเผยว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจเดือนกรกฎาคมทยอยฟื้นจากจุดต่ำสุด ขณะที่ทางการเตรียมอัดมาตรการพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยการใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นเครื่องยนต์หลักหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้นต่อเนื่องโดยหดตัวเพียงเล็กน้อยที่ -0.1% YoY (จาก -4.5% เดือนมิถุนายน) ผลจากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง และปัจจัยชั่วคราวจากการมีวันหยุดยาวมากกว่าระยะเดียวกันปีก่อน (ชดเชยการเลื่อนวันหยุดสงกรานต์) กอปรกับมีมาตรการภาครัฐหนุนการใช้จ่ายและท่องเที่ยวในประเทศ
ด้านมุมมองดอกเบี้ยนโยบาย การประชุมกนง. ครั้งล่าสุดระบุว่าระดับสภาพคล่องโดยรวมในระบบการเงินยังคงเพียงพอ การใช้มาตรการกระตุ้นทางการเงินในวงกว้างรวมถึงการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีความจำเป็นน้อยลงแต่พร้อมที่จะใช้เครื่องมือทางนโยบายด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ย