InfoQuest - บิตคอยน์ร่วงลงหลุดระดับ 27,000 ดอลลาร์ โดยปรับตัวลงตามตลาดหุ้นวอลล์สตรีท ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการลงมติของสภาคองเกรสต่อร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้สหรัฐ
นอกจากนี้ บิตคอยน์ยังถูกกดดันจากคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.
ณ เวลา 23.24 น.ตามเวลาไทย บิตคอยน์ดิ่งลง 3.35% สู่ระดับ 26,930.85 ดอลลาร์ ในการซื้อขายบนแพลตฟอร์ม Coinbase (NASDAQ:COIN)
นอกจากนี้ บิตคอยน์ร่วงลง 8% นับตั้งแต่ต้นเดือนพ.ค. ส่งผลให้เดือนนี้เป็นเดือนแรกที่บิตคอยน์ปรับตัวลงนับตั้งแต่ต้นปี 2566 และเป็นเดือนที่บิตคอยน์ปรับตัวย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2565
ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงกว่า 200 จุด ขณะที่นักลงทุนขายลดความเสี่ยง ก่อนที่สภาคองเกรสจะลงมติต่อร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้ในวันนี้
ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐจะทำการลงมติต่อร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้ ซึ่งใช้ชื่อว่า "พ.ร.บ.ความรับผิดชอบทางการคลัง" (Fiscal Responsibility Act) ในคืนนี้ เวลา 20.30 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือพรุ่งนี้เช้า (1 มิ.ย.) เวลา 07.30 น.ตามเวลาไทย
หากสภาผู้แทนราษฎรให้การรับรองร่างกฎหมายดังกล่าว ก็จะส่งต่อเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาสหรัฐ และหากวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ ก็จะส่งต่อให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ลงนามเป็นกฎหมายเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
กระบวนการผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้จะต้องเสร็จสิ้นก่อนเส้นตายวันที่ 5 มิ.ย. มิฉะนั้นสหรัฐจะเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ครั้งประวัติศาสตร์
อย่างไรก็ดี การผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก จะไม่ใช่เรื่องง่าย หลังจากที่สมาชิกพรรครีพับลิกันสายอนุรักษ์นิยมมากกว่า 20 รายประกาศว่าพวกเขาจะโหวตคว่ำร่างกฎหมายฉบับนี้ พร้อมกับกล่าวหาว่า นายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ได้ยอมอ่อนข้อต่อปธน.ไบเดนเพื่อแลกเปลี่ยนกับการปรับรายละเอียดเล็กๆน้อยๆในงบประมาณ แทนที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ตามที่มีการตกลงกันไว้
นอกจากนี้ สมาชิกพรรครีพับลิกันดังกล่าวยังขู่ที่จะลงมติไม่ไว้วางใจนายแมคคาร์ธี หากร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านสภาผู้แทนราษฎร
ขณะเดียวกัน นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย. หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเปิดรับสมัครงานเพิ่มขึ้นในเดือนเม.ย. สวนทางคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 66.4% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. และให้น้ำหนักเพียง 33.6% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25%
สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน เพิ่มขึ้น 358,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 10.1 ล้านตำแหน่งในเดือนเม.ย. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าลดลงสู่ระดับ 9.375 ล้านตำแหน่ง หลังจากปรับตัวลงติดต่อกัน 3 เดือน
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานปรับเพิ่มตัวเลขการเปิดรับสมัครงานในเดือนมี.ค. สู่ระดับ 9.75 ล้านตำแหน่ง จากเดิมรายงานที่ระดับ 9.59 ล้านตำแหน่ง
นักวิเคราะห์ระบุว่า การเพิ่มขึ้นของตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ท่ามกลางภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน เป็นปัจจัยหนุนการดีดตัวขึ้นของเงินเฟ้อ เนื่องจากพนักงานจะมีอำนาจต่อรองในการขอขึ้นค่าแรงต่อนายจ้าง ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันต่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.
ทั้งนี้ ตัวเลข JOLTS นับเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสนใจ โดยมองว่าเป็นมาตรวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงิน และอัตราดอกเบี้ยของเฟด