สำหรับนักลงทุนทั่วไป เราใช้ตัวเลขทางเศรษฐกิจในหมวดหมู่ต่างๆ เป็นตัวชี้วัดเบื้องต้นว่าสภาพเศรษฐกิจกำลังมีสภาพเป็นเช่นไร แต่สำหรับธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) นั้น นอกจากจะต้องทราบข้อมูลตัวเลขเหล่านี้อย่างละเอียดแล้ว หนึ่งในมาตรวัดที่ดีที่สุดคือสิ่งที่เรียกว่ารายงานสรุปสภาวะทางเศรษฐกิจ (Beige Book) เป็นรายงานที่สรุปกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากสิบสองภูมิภาคที่มีธนาคารกลางเป็นของตัวเอง รายงานฉบับนี้จะถูกเผยแพร่ปีละแปดครั้ง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจแก่ประธานเฟด คนในทำเนียบขาวและประชาชนที่สนใจ
เพราะในความเป็นจริงนั้นมักจะแตกต่างจากสิ่งที่ประเมินเอาไว้ในตอนแรกอยู่เสมอ ดังนั้นประธานของธนาคารกลางในแต่ละภูมิภาคจึงต้องอาศัยการประชุมของเหล่าผู้วางนโยบายทางการเงิน (FOMC) เป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็นในเชิงเศรษฐศาสตร์และการเงินที่แตกต่างออกไปจากสิ่งที่ผู้คนในทำเนียบขาวตั้งคำถาม รายงานสรุปสภาวะทางเศรษฐกิจที่รายงานไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเปิดเผยภาพรวมทางเศรษฐกิจที่แตกต่างไปจากคำพูดของเจอโรม พาวเวลล์ ที่พยายามทำให้เราเชื่อว่าเพียงอัดเงินเข้าไปในระบบ ทุกอย่างก็จะดีขึ้น
ในรายงานดังกล่าวได้ระบุว่ายังมีอีกหลายพื้นที่ที่กำลังขาดแคลนวัสดุสำหรับก่อสร้าง รวมไปถึงแรงงานที่ยังไม่สามารถกลับไปทำงานได้ตามเดิมเนื่องจากธุรกิจขนาดเล็กต้องปิดตัวลงเพราะวิกฤตโควิด เมื่อคนยังไม่มีงานทำ พวกเขาจึงยังไม่สามารถกลับมาจับจ่ายใช้สอยได้ตามปกติ เท่ากับว่าในภาพรวมแล้วภาคแรงงานยังฟื้นตัวได้ไม่ดีเท่าที่ควร สิ่งที่น่าสนใจก็คือในรายงานฉบับนี้ได้เน้นย้ำถึงคำว่า “ขาดแคลน” มากถึง 53 ครั้งด้วยกัน
รายงานจากธนาคารกลางแห่งบอสตันระบุว่า บริษัทหนึ่งแห่งที่กลับมาเปิดกิจการในตอนนี้ยังไม่กล้าจ้างพนักงานกลับมาเต็ม 100% ความจริงที่น่าตกใจก็คือพวกเขาจ้างเพียง 10% เท่านั้น และพวกเขายังต้องจูงใจด้วยการสัญญาว่าจะให้ค่าจ้างหรือโบนัสเพิ่ม สำนักงานกระทรวงแรงงานแห่งเมืองนิวยอร์กและรัฐทางตอนเหนือส่วนใหญ่ก็มีรายงานตรงกันว่าพบปัญหาการขาดแคลนแรงงานด่วน ธุรกิจต่างๆ กำลังแข่งกันขึ้นค่าจ้างเพื่อดึงดูดให้คนกล้ากลับมาทำงาน
ภาคตะวันตกของประเทศก็ประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน ธุรกิจในโรงพยาบาล ค้าปลีก ท่องเที่ยว ร้านอาหาร ภาคการผลิต ก่อสร้าง เกษตรกรรมและคมนาคมต่างก็กำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ถึงขนาดที่ว่าในเมืองเคนซัสได้มีการประกาศรับคนงานในทุกตำแหน่งไล่มาตั้งแต่คนขับรถบรรทุกไปจนถึงผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิค หนึ่งในสามของบริษัทยอมขึ้นค่าจ้าง 4% เพื่อดึดดูดแรงงาน
ทั้งๆ ที่รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจออกมามีหน้าตาเช่นนี้ แต่ประธานเฟดนายเจอโรม พาวเวลล์และรัฐมนตรีกระทรวงการคลังนางเจเน็ต เยลเลน ก็ยังออกมาช่วยกันยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือผลกระทบเพียงชั่วคราว ในระยะยาวจะส่งผลดีต่อภาพการฟื้นตัวมากกว่า พวกเขายังต้องการให้พวกเราทนกัดฟันกันไปอีกสักพัก...คำถามก็คือพวกเขามั่นใจได้อย่างไรว่าคำว่า “ชั่วคราว” นี้จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจตามมาจริงๆ?
เจมส์ บลูราร์ด ประธานธนาคารกลางแห่งเซนต์ หลุยส์ น่าจะเป็นประธานเฟดไม่กี่คนที่มองสวนทางกับนายเจอโรม พาวเวลล์ และสมาชิกคนอื่นๆ ที่มองว่าเป้าหมายคืนชีพการจ้างงานยังอยู่อีกไกล สำหรับเจมส์แล้วเขามองว่าสถานการณ์ในตอนนี้สหรัฐฯ ถือว่าฟื้นตัวได้เร็ว เมื่อคนกลับมามีความเชื่อมั่น เมื่อนั้นการจ้างงานก็จะค่อยๆ เร่งสปีดฟื้นตัวกลับมาด้วยตัวเองตามธรรมชาติ
“สิ่งที่ตลาดแรงงานกำลังขาดในตอนนี้คือความเชื่อมั่นของลูกจ้างที่มีต่องานหลังจากยุคโควิด นั่นจึงเป็นเหตุผลอธิบายว่าทำไมทั้งๆ ที่ผู้ประกอบการต่างพากันโฆษณาว่าจะให้เงินโบนัสเพิ่ม แต่ธุรกิจห้างร้านก็ยังปิดอยู่ เพราะพวกเขามีคนงานไม่พอ” เจมส์ บลูราร์ด ให้สัมภาษณ์กับ Financial Times
นอกจากนี้เจมส์ยังแนะนำบรรดาเพื่อนร่วมงานของเขาว่าควรดูมาตรวัดอื่นๆ ประกอบที่ระบุถึงตลาดแรงงานที่สะท้อนตามความเป็นจริงโดยตรง ยกตัวอย่างเช่นตัวเลขการว่างงานเทียบอัตราตำแหน่งงานเปิดใหม่ ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2020 ตัวเลขนี้เคยวิ่งอยู่ที่ 0.8 จุด แต่ตอนนี้กลับฟื้นตัวกลับขึ้นมาเป็น 1.5 จุดแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็ควรจะตั้งคำถามกับตัวเองได้แล้วว่า “ถึงเวลาเปลี่ยนนโยบายการเงินได้แล้วหรือไม่”
การรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (NFP) ในเดือนพฤษภาคมเมื่อวันศุกร์ที่แล้วบอกภาพรวมการฟื้นตัวของอเมริกาได้เป็นอย่างดี การจ้างงานในเดือนพฤษภาคมมีตัวเลขเพิ่มขึ้น 559,000 ตำแหน่ง เพิ่มขึ้นจากตัวเลขในเดือนเมษายนที่ 278,000 ตำแหน่ง อย่างไรก็ตามการจ้างงานในเดือนพฤษภาคมที่เพิ่มขึ้นยังไม่สามารถเอาชนะตัวเลขคาดการณ์ที่ 645,000 ตำแหน่ง นักวิเคราะห์บางคนมองว่าเฟดจะใช้ตัวเลขนี้เป็นข้ออ้างในการคงนโยบายการเงินเอาไว้ดังเดิม แต่การทำเช่นนี้พวกเขาก็ต้องรับความความกดดันที่มาจากความกังวลในภาวะเงินเฟ้อมากขึ้น
ความกังวลที่เกิดขึ้นนี้ทำให้แม้แต่นาย ริชาร์ด กัลแลนติ CFO ของบริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่นาม ‘คอสโก’ (NASDAQ:COST) ต้องออกมาแสดงความคิดเห็นเตือนเฟดว่า
“ผมไม่รู้ว่าพวกเขา (เฟด) รู้ตัวหรือไม่ว่าความชะล่าใจนี้กำลังเป็นการทำลายประเทศทางอ้อม การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อนั่นหมายความว่าราคาของทุกอย่างจะแพงขึ้นตั้งแต่ ค่าแรง ค่าคนส่ง ค่าสินค้า ตู้คอนแทนเนอร์จะคาดแคลน ยิ่งความต้องการเพิ่มขึ้น (เพราะทุกคนมีเงิน) ของที่มีในระบบนั้นมีไม่พอ ราคาสินค้าก็จะยิ่งสูงขึ้น นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำไมตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวขึ้นนำไปก่อนแล้ว”
อนึ่ง ในสัปดาห์นี้จะมีการรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดี นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าตัวเลขของเดือนเมษายนจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.2% และตัวเลขแบบรายปีจะถูกปรับขึ้นเป็น 4.7% คำถามคือเมื่อไหร่เฟดจะพอใจกับการปล่อยสภาพคล่องให้ล้นตลาดและหันกลับมามองว่าการกระทำของพวกเขากำลังเป็นภัยต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากแค่ไหน?