#เศรษฐกิจโลกในยุคไวรัสโควิด ขาลงนั้นเปรียบเสมือนการลงลิฟต์แต่ขาขึ้นนั้นกลับต้องค่อยๆขึ้นบันได...
นั้นคือคำพูดสรุปของมุมมองจากนักวิเคราะห์ต่างๆทั่วโลก ที่ยิ่งวันยิ่งรู้สึกว่าความหวังของการรีบาวด์รูปตัว V-Shape กำลังจางหายไป มุมมองต่างๆกำลังเริ่มเป็นเสียงเดียวกันว่าเศรษฐกิจคงยังไม่ฟื้นกลับมาถึงจุดเดิมจนกว่าจะถึงอีก 2 ปีหน้าหรือในปี 2022
เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2020 และก็ยังคงถูกกดดันอย่างหนักจากการระบาดของไวรัสโควิด โดยไม่มีนักวิเคราะห์คนไหนเลยที่เชื่อว่าจะเกิดการฟื้นตัวกลับมาเหมือนเดิมในปีนี้ได้ และหากจะกลับมาเหมือนเดิมได้ในปีหน้า (2021) ก็ต้องมีหลายๆอย่างที่ต้องเกิดขึ้นอย่างถูกต้องตามแผนเป๊ะๆ #แต่การที่จะให้ทุกอย่างเป็นไปตามแผนภายใต้ภาวะไม่แน่นอนของไวรัสนั้น ช่างเป็นสิ่งที่ยากลำบากเหลือเกิน
ย้อนกลับไปเมื่อต้นปีนั้น นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เคยคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจจะต้องขยายตัวอย่างสดใสแน่ๆ เพราะข้อตกลงทางการค้าของสหรัฐและจีนนั้นเพิ่งเซ็นกันไปสำเร็จ หลังจากที่สงครามการค้านั้นกดดันเศรษฐกิจโลกมาตลอดเกือบปีครึ่ง
แต่... การระบาดของไวรัสที่ไม่มีใครคาดคิดนั้นได้ทำลายความหวังของนักลงทุนไปอย่างสิ้นเชิง ทางเดียวที่โลกจะป้องกันโรคระบาดที่ไม่เคยพบเจอนี้ได้ก็คือการทำ 'The Great Lockdown' หรือการปิดเมืองปิดประเทศเพื่อควบคุมไม่ให้มีการระบาดของไวรัส
การหยุดชะงักของเศรษฐกิจโลกแบบปิดสวิตช์นั้นบังคับให้ธนาคารกลางและรัฐบาลทั่วโลกตอบโต้ด้วยการอัดฉีดเงินหลายล้านล้านเหรียญเข้าไปในระบบการเงิน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดแบบที่โลกไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเป็นทางเดียวที่จะทำได้เพื่อป้องกันไม่ให้ระบบการเงินและบริษัทต่างๆนั้นล้มละลาย และคงต้องให้ความช่วยเหลือไปยาวๆจนกว่าไวรัสระบาดจะกลายเป็นอดีต
ถึงแม้จะได้รับการช่วยเหลือเหล่านี้ แต่โลกก็ยังคงต้องประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เกิด The Great Depression หรือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่เมื่อเกือบ 100 ปีก่อน...
1. การ Rebound กับ Recovery นั้นต่างกัน
ถึงแม้ว่าหลังจากการอัดฉีดเงินเข้าระบบจะช่วยให้ตัวเลขเศรษฐกิจในบางส่วนนั้นดีขึ้น สายป่านของบริษัทต่างๆที่ยาวขึ้นประกอบกับการปลดคลาย Lock Down เริ่มทำให้ยอดการผลิตและการค้าปลีกในบางประเทศนั้นดีดตัวกลับมาได้คล้ายๆกับรูปตัว V และได้สร้างความหวังและความมั่นใจให้กับนักลงทุนอีกครั้ง
แต่... นาย Carmen Reinhart หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกได้กล่าว “อย่าสับสนรหหว่างการดีดกลับ (Rebound) กับ การฟื้นตัว (Recovery) เพราะทั้ง 2 อย่างนั้นต่างกัน การดีดกลับเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น แต่การฟื้นตัวอย่างแท้จริงนั้นหมายว่าเราต้องกลับไปอยู่ในจุดที่เหมือนก่อนวิกฤตเริ่มต้นขึ้น และ #ผมคิดว่าเรายังอยู่ไกลมากจากจุดนั้น”
เวลาแห่งความไม่แน่นอน (Uncertain Times)
การฟื้นตัวอย่างแท้จริงนั้นฝากความหวังหลักๆไว้กับการควบคุมการระบาดของไวรัสและการผลิตวัคซีน แต่ถามว่าโลกเรานั้นเข้าใจถึงไวรัสนี้อย่างถ่องแท้ที่จะมั่นใจได้ว่าจะมีวัคซีนมาใช้ในปีหน้าแล้วหรือ ? องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังคงเตือนว่าการระบาดครั้งใหญ่ยังคงสามารถเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง
ในขณะนี้โลกเรามีผู้ติดเชื้อเกินกว่า 11.3 ล้านคนและมีผู้เสียชีวิตเกินกว่า 5.3 แสนรายไปแล้ว และแม้แต่ในประเทศที่มีเราคิดว่าเคยควบไวรัสไว้ได้แล้วก็ยังมีการระบาดปรากฏมาให้เห็นอยู่เรื่อยๆ...
2. มุมมองจาก IMF
กองทุนการเงินระหว่างประเทศนั้นคาดการณ์ว่าภายในสิ้นปีนี้ ยังจะมีประเทศอีกกว่า 170 ประเทศหรือเกือบ 90% ของประเทศทั่วโลก ที่ประชาชนยังคงจะมีรายได้ต่อหัวต่ำกว่าช่วงต้นปีนี้ก่อนที่จะเกิดไวรัสระบาด หรือเป็นภาพที่กลับหัวอย่างสิ้นเชิงหลังจากที่ช่วงต้นปีทาง IMF นั้นมองว่าจะมี 160 ประเทศที่รายได้ต่อหัวในปีนี้จะโตสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว
3. มุมมองจาก HSBC
ยังคงเชื่อว่า GDP ของโลกโดยรวมเมื่อสิ้นสุดปีหน้านั้นยังจะยังคงต่ำกว่าเมื่อปีที่แล้ว หรือสรุปง่ายๆว่า #ต่อให้ใช้เวลาถึง2ปีเศรษฐกิจโลกก็คงจะยังไม่กลับมาเหมือนจุดเดิม ทาง Janet Henry นักเศรษฐศาสตร์ของ HSBC กล่าวจากตัวเลขคาดการณ์ GDP ของทางสถาบัน
4. มุมมองจากผู้นำธนาคารกลางต่างๆของโลก
ธนาคารกลางทั่วโลกส่วนมากยังคงไม่ #การ์ดตก โดยทาง Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ได้เตือนว่า “สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง” และทางด้าน Christine Lagarde ประธานธนาคารกลางยุโรปก็เห็นด้วยและได้เสริมว่า "การฟื้นตัวกำลังถูกจำกัด” ซึ่งบางส่วนอาจจะเปลี่ยนรูปแบบของเศรษฐกิจยุโรปไปอย่างถาวร
5. นักเศรษฐศาสตร์ของ Bloomberg
6 เดือนที่แล้ว Covid-19 ไม่ได้อยู่ในเรดาร์ของใครเลย ! สามเดือนต่อมามีความหวังว่าเราจะควบคุมมันได้ยังคงมีอยู่ ... แต่ตอนนี้หลายฝ่ายเริ่มเข้าใจแล้วว่าการระบาดใหญ่นั้นเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และการที่จะให้กลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมนั้นอาจต้องพึ่งวัคซีนเป็นหลัก
ถึงแม้จะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเข้มจ้น แต่ผลกระทบที่เกิดจากการว่างงานสูงและความไม่แน่นอนนั้นทำให้ทางเราต้องปรับลดประมาณการ GDP ของทั้งปี 2020 และ 2021 ลง
6. #การไม่มีผู้ติดเชื้อระบาดไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจนั้นจะดี
ประเทศทางแถบเอเชียเป็นประเทศแรกๆที่สามารถควบคุมไวรัสระบาดได้ แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศที่ควบคุมได้นั้นยังคงแตกต่างกันไป ทางด้านจีนนั้นดูเหมือนเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจทางเกาหลีใต้ไม่ได้เป็นเช่นนั้น
และที่สำคัฐทั้งสองประเทศที่กลับมาเปิดเศรษฐกิจใหม่อีกครั้งนั้นก็ยังคงเกิดเหตุระบาดใหม่ๆอยู่เป็นหย่อมๆ ทำให้ความไม่แน่นอนยังคงสูง
7. การฟื้นตัวดูเหมือนจะเป็นตัว #W เสียมากกว่า
การฟื้นตัวรูปแบบ V ที่ทุกคนคาดหวังกำลังหดหายไป และการฟื้นตัวแบบ W นั้นดูเหมือนจะเป็นไปได้มากกว่า เพราะความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่ยังหลงเหลืออยู่ในตลาดนั้นอาจจะยังอยู่กับเราไปอีกอย่างน้อยถึงสิ้นสุดปี 2021
8. World Bank เป็นห่วงระบบเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market)
ธนาคารโลกนั้นเป็นห่วงกลุ่ม Emerging Market มากที่สุด เพราะหลายๆประเทศอาจจะไม่ได้มีสายป่านทางการเงินที่ยาวพอจะรับมือกับการปิดประเทศได้นานเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยทางธนาคารโลกคาดว่ากลุ่มประเทศเหล่านี้ที่เคยเป็นตัวนำในการดึงเศรษฐกิจโลกให้โตนั้น จะมี GDP หดตัวที่ -2.5% หรือเป็นการลดลงโดยรวมที่แย่ที่สุดในประวัติศาสตร์
9. การจ้างงานจะหายไป #400ล้านตำแหน่งทั่วโลก
ตัวเลขคนตกงานที่เราอาจชินคือ 40 ล้านรายในสหรัฐ แต่หากนับจำนวนคนที่อาจตกงานในวิกฤตครั้งนี้นั้นแาจจะมีสูงกว่านั้นถึง 10 เท่า ! หากรวมผู้ตกงานทั่วโลก ทางด้านองค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือ International Labour Organization ได้ออกมาให้ตัวเลขคาดการณ์นี้
10. #ปัญหาหนี้เสียทั่วโลก
นี่ยังคงเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดเพราะนักวิเคราะห์หลายๆคนนั้นยังมองไม่ออกถึงผลกระทบที่แท้จริง โดยทาง Alicia Garcia Herrero หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Natixis ได้กล่าวไว้ว่า "การที่ธนาคารกลางออกมาให้บริษัทต่างๆกู้ยืมเงินครั้งใหญ่นั้น จะต้องมีผลข้างเคียงแน่ๆ นอกจากหนี้ของธนาคารกลางจะสูงขึ้นแล้ว ประเทศต่างๆยังไม่แน่ใจว่าบริษัทไหนที่จะสามารถนำเงินกลับมาคืนในระบบได้"
ทาง Alicia ได้กล่าวว่าสิ่งที่น่ากลัวคือธนาคารกลางต่างๆ #อาจไม่รู้ตัวว่ากำลังใช้เงินเลี่ยงบริษัทซอมบี้อยู่ ซึ่งการต่อชีวิตบริษัทเหล่านี้อาจจะไม่ได้ช่วยอะไรต่อเศรษฐกิจโดยรวม
และนี่ก็คือบทสรุปมุมมองเศรษฐกิจโลกจากนักวิเคราะห์ทั่วโลก
โดยทั้งหมดนั้นต่างเริ่มพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “The crisis is far from over” หรือ #วิกฤติยังคงไม่จบง่ายๆในเร็วๆนี้แน่ นักลงทุนและพี่น้องทุกท่านคงต้องเตรียมตัวและรัดเข็มขัดกันต่อไปนะครับ อีก 18 เดือนข้างหน้านี้คงจะเป็นเวลาที่ลำบากกันแน่ๆ
บทวิเคราะห์นี้เผยแพร่ครั้งแรกที่เพจ Oil Trading - ทันตลาดน้ำมันและเศรษฐกิจโลกกับ KP