NSL … แซนด์วิชอบร้อน 3 พันล้านบาท
เราหลายคนน่าจะเป็นลูกค้าของ NSL โดยไม่รู้ตัว
ถ้าคุณเข้า 7-11 แล้วหยิบแซนด์วิชแฮมชีส ไส้กรอกชีส หมูหยองน้ำสลัด ฯลฯ มาบอกน้องพนักงานว่าอุ่นให้ด้วยครับ แล้วได้แซนด์วิชอบร้อนขอบกรอบๆ ทรงสามเหลี่ยม 2 ชิ้นออกมา
นั่นคือ ธุรกิจหลักของ NSL ที่รับจ้างผลิต ทำวิจัย คิดรสชาติร่วมกันออกมา และขายให้เฉพาะ 7-11 เท่านั้น โดยมีการทำ MOU ล่าสุดไปถึงปี 2569 ว่าห้ามขายสินค้าแบบนี้ที่อื่น ขณะเดียวกัน 7-11 ก็ห้ามเอาสินค้าแบบนี้มาวางขาย (แต่สินค้าอื่นที่ใกล้เคียงกันไม่ได้ห้าม)
94% ของยอดขาย NSL อยู่ที่ 7-11 มองเป็นได้ทั้งโอกาสและความเสี่ยง คือ เติบโตไปพร้อมกับ 7-11 ทั้งร้านเดิมและร้านใหม่ที่เปิด 700 สาขาทุกปี แต่ถ้าปีไหนไม่ดีอย่างช่วง COVID ยอดขายก็จะตกตามกันไป
Business Model ของ NSL คือ โรงงานผลิต ใช้แรงงานคนเยอะ มีเครื่องจักรใหญ่ มีไลน์ผลิตเป็นสัดส่วน มีการเริ่มเอา SAP มาใช้ ทำเสร็จส่งของเข้า DC 7-11 กระจายเข้าร้านค้ากว่า 12,000 แห่ง ทั่วประเทศ (ไม่ได้วิ่งตรงเข้าร้านเหมือน ฟาร์มเฮ้าส์)
ทุกปลายปีจะมีการคุย joint business plan กับ 7-11 ว่าแผนปีหน้าจะขายอะไรบ้าง เพราะแต่ละเดือนจะมีสินค้าใหม่ๆ เข้าไป 4-5 sku บางตัวเป็น seasonal ขาย 6 เดือน บางตัวเป็นตัวใหม่เข้าไปแทนตัวเก่า และก็จะมีสินค้าที่เป็น core หลักพวก แฮมชีส หมูหยอง ไส้กรอก ที่เป็นตัวขายดี ยืนพื้นอยู่ไม่เปลี่ยน
ในแง่ของราคาสินค้า ที่เราเห็นว่าบางอย่าง 27 บาท บางอย่าง 30 บาท 32 บาท ไม่ได้แปลว่า สินค้าราคาสูงกว่า มาร์จิ้นจะดีกว่า แต่เป็นการตกลงกันว่าควรจะขายที่ราคาเท่าไหร่ 7-11 ต้องการมาร์จิ้นประมาณไหน NSL ถ้าอยากได้กำไรเพิ่มก็ต้องไปหาทางลด cost ลง
NSL เลยกลับมาคุยกับทาง supplier แป้งสาลี น้ำตาล เนย นม หมู ไข่ ต่างๆ ด้วยการตกลง volume เป็นก้อนใหญ่ ด้วยการปรับ credit term ให้สั้นลง และยังปรับระบบที่โรงงานใช้ SAP เข้ามาช่วย คุมงานแต่ละห้องผลิตเลยว่า แซนด์วิชอันนี้ อยากได้ cost กี่บาท ต้องทำอะไรตรงไหนบ้าง
ผลประกอบการที่ผ่านมาเป็นแบบนี้
ปี 2560 รายได้ 3,022 ล้านบาท กำไรสุทธิ 55 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 3,137 ล้านบาท กำไรสุทธิ 80 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 3,373 ล้านบาท กำไรสุทธิ 156 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 2,927 ล้านบาท กำไรสุทธิ 151 ล้านบาท
Q1’63 รายได้ 810 ล้านบาท กำไรสุทธิ 32 ล้านบาท
Q1’64 รายได้ 764 ล้านบาท กำไรสุทธิ 56 ล้านบาท
ข้อสังเกตมี 4 เรื่อง คือ
1. ก่อน COVID ยอดขายดีขึ้นมาเรื่อยๆ กำไรก็เติบโต เรียกได้ว่า 7-11 โต NSL โต อยู่ในช่วงที่ทุกคน happy
2. ปี 2563 เจอ COVID ยอดขายตก 13% (ยอดขาย 7-11 ตก 9%) แต่กำไรแทบไม่หาย แปลว่า คุมต้นทุนได้ดีมาก
3. ปี 2564 เจอ COVID ตอนต้นปี ยอดขายตกแค่ 5% (ยอดขาย 7-11 ตก 13%) แต่กำไรกระโดดเพิ่มมาเยอะมาก แปลว่า คุมต้นทุนได้ดีกว่าเดิมอีก
4. หลายคนอาจสงสัย ทำไมปีที่แล้วยอดตกมากกว่า 7-11 แต่ Q1 ปีนี้ยอดตกน้อยกว่า 7-11 เหตุผลที่บริษัทสันนิษฐานคือ ปีที่แล้ว 7-11 คนตุนสินค้า ready to cook เยอะ เช่น ข้าว อาหารกระป๋อง นม เอาไปทำกินที่บ้าน แต่ปีนี้ ready to eat เยอะขึ้น คือ ซื้ออุ่น อบ กินเลย และที่สำคัญของหวานพวกโมจิ เอแคลร์ ที่ NSL ทำ ขายดีมาก
=================
ทีนี้เรามาดูอัตรากำไรกันบ้างจะได้หายสงสัยว่า ดีแค่ไหน
ปี 2560 GPM 11% NPM 1.8%
ปี 2561 GPM 12.9% NPM 2.5%
ปี 2562 GPM 14.9% NPM 4.6%
ปี 2563 GPM 16.2% NPM 5.2%
Q1’64 GPM 14.9% NPM 4%
Q1’64 GPM 18.7% NPM 7.3%
จากที่บอกไปข้างต้น NSL คุมต้นทุนเก่งทั้งการบริหารในโรงงาน ลงระบบ SAP และการคุยกับ Supplier การปรับ credit term สั้นลง ทำให้ GPM เติบโตขึ้นมากๆ และ NPM โตตามเช่นกัน
แต่ก็มีข้อสังเกตว่า Q1’64 นั้นสูงเกินไปหรือเปล่า ทำไมกระโดดขึ้นมากขนาดนั้น ข้อดีคือ ถ้ารักษามาร์จิ้นระดับนี้ได้ และรายได้เริ่มกลับมาก็จะทำให้กำไรเติบโตได้อีกมาก ต้องติดตามว่าจะทำได้ดีต่อเนื่องแค่ไหน
================
ทีนี้เพื่อนๆ อาจสงสัยว่าเราเทียบกับ TACC ได้มั้ย จะบอกแบบนี้ครับว่า
1. TACC ไม่ได้เป็นโมเดลโรงงานผลิตแบบ NSL ทั้งหมด จะมีส่วนที่จ้างโงงานอื่นผลิตมากพอสมควร จะออกแนวเป็น asset light มากกว่า และคล่องตัวกว่า แต่ถ้า NSL เพิ่ม utilization ได้มาก ก็จะได้ economy of scale ก็จะคนละแบบกัน
2. TACC มี GPM 36% แต่ NSL จะไปขนาดนั้นด้วยสินค้าเบเกอรี่ไม่ได้ เพราะมาร์จิ้นไม่เท่ากัน และ TACC มี All Café ที่เป็นตัวช่วยมาร์จิ้นให้สูงขึ้น TACC ลดน้ำตาล ปรับสูตรได้มากกว่า ตัววัตถุดิบเบเกอรี่ของ NSL
3. TACC มีลูกเล่นในการเพิ่มขนาดแก้วจาก 16 เป็น 22 ออนซ์ แล้วขายผงชา ชงโกโก้ ให้ได้รายได้เพิ่ม เพราะเพิ่มเงิน 10 บาท ได้ปริมาณเพิ่ม 37.5% แต่ว่า แต่ NSL เพิ่มแฮม เพิ่มชีส ใส่ไข่ ทำได้เช่นกัน แต่ต้นทุนก็เพิ่มตาม และอาจจะกำหนดราคาขายไม่ได้ตามต้องการ
4. TACC มีแนวโน้มขยายไป Lotus ขยายไป CLMV ตามแผนของ 7-11 แต่ NSL ยังไม่ได้ออกมาบอกว่าจะไปด้วยกันได้หรือเปล่า แต่เราก็ไม่เคยเห็นเครื่องอบแซนด์วิชใน Lotus ต้องติดตาม
NSL ขาย IPO ราคา 12 บาท ถ้าเราคิด EPS 4 ไตรมาสย้อนหลัง ตั้งแต่ Q1 ปีนี้ลงไป โดยคิดจาก 300 ล้านหุ้น
จะได้ EPS 0.59 บาท ราคานี้ P/E 20 เท่า ต่ำกว่า TACC นิดหน่อยที่ 22 เท่า
โดยสรุป NSL เป็นหุ้นที่เราคุ้นเคย สามารถไปสำรวจตลาดได้ทุกวัน ยอดขายจะโตและลดตาม 7-11 (อ้อ แต่เค้าก็มีทำ Food Service 6% ของยอดขายที่ตั้งเป้าว่าในอนาคตจะเป็น 30%) สิ่งที่เก่งคือ คุมต้นทุนขายได้ดี ถ้าทำได้ดีต่อเนื่อง และ COVID จบเมื่อไหร่ กำไรก็น่าจะดีกว่าเดิม
ใครสนใจ NSL แวะชิมแซนด์วิชกันได้ที่ 7-11 และทำการบ้านกันต่อนะครับ โดยเฉพาะ Q2 ว่ายอดขายจะเป็นอย่างไร GPM ยังรักษาระดับได้ดีแบบนี้ตลอดมั้ย วิตามินหุ้นเพียงให้ข้อมูลประกอบการลงทุนเท่านั้น อย่าลืมว่าการลงทุนมีความเสี่ยง โปรดพิจารณาก่อนตัดสินใจ
ป.ล. วิตามินหุ้นไม่ได้หุ้น IPO แต่ชอบกินแซนด์วิชหมูหยองน้ำสลัดครับ
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกทาง Stock Vitamins - วิตามินหุ้น