หากว่าเราฟังสัญญาณเตือนจากสถานการณ์ในตลาดทองแดงมาตั้งแต่ต้น เราอาจจะไม่ต้องเจ็บตัวกับสงครามการค้าหนักขนาดนี้ก็เป็นได้
ตลาดทองแดงได้ส่งสัญญาณเตือนมาโดยตลอดเป็นเวลากว่า 1 ปีว่าเศรษฐกิจโลกยังคงมีปัญหา
แม้แต่ในช่วงก่อนก่อนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะเริ่มรบกับจีนโดยการประกาศใช้มาตรการภาษีนั้น ตลาดทองแดงซึ่งเป็นปัจจัยที่ใช้วัดการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกก็เริ่มส่งสัญญาณผ่านราคาที่ค่อนข้างต่ำลงอย่างมาก ซึ่งสะท้อนถึงผลกระทบที่เกิดจากการใช้มาตรการด้านภาษีของประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับจีนได้เป็นอย่างดี
ราคาทองแดงยังคงทรุดหนักจากที่เคยต่ำสุดในรอบ 8 เดือนกลายเป็นต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี
ในเดือนพฤษภาคม 2018 ซึ่งเป็นช่วงที่สงครามทางการค้ากำลังเริ่มต้น สัญญาซื้อขายทองแดงล่วงหน้า 3 เดือนในตลาดโลหะลอนดอน (LME) ปรับตัวลดลงไปอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน โดยมีมูลค่าอยู่ที่ $6,998.50 ต่อตัน
หลังจากนั้นอีก 12 เดือนถัดมา มูลค่าในตลาดทองแดงยังคงร่วงลงอย่างต่อเนื่องไปอยู่ที่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี โดยมีมูลค่าอยู่ที่ $5,742.50 ต่อตันในสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน
แต่ทองแดงก็ไม่ได้ร่วงลงอย่างต่อเนื่องเสียทีเดียว เพราะในระหว่างนั้นก็มีอยู่ 2 เดือนที่ยังมีการปรับตัวสูงขึ้นได้ 3% และอีก 2 เดือนที่เพิ่มขึ้นมา 5% จึงพอจะช่วยกู้สถานการณ์ขึ้นมาได้บางส่วน แต่โดยสรุปในปีที่แล้วปรับลดลงไป 18%
น้ำมันก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกหนึ่งที่เป็นตัวชี้วัดสภาพเศรษฐกิจได้ดีเช่นกัน โดย ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ในปีนี้ปรับตัวสูงขึ้น 13% ส่วนราคาทองแดงในตลาด LME ปรับขึ้นเพียง 0.7% แม้ว่าสหรัฐฯ จะพยายามกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจมาเป็นเวลาเกือบทศวรรษในปีนี้ และจีนก็ยังดำเนินนโยบายเพื่อคงอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจเอาไว้โดยที่ยังต้องเผชิญวิกฤติจากสงครามการค้าอยู่ก็ตาม
ในขณะที่น้ำมันเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ขับเคลื่อนพลังงานให้กับโลก ทองแดงซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อโลหะสีแดงก็เป็นวัตถุดิบที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมแทบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไปจนถึงอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมและการก่อสร้าง
และแม้ว่าโอเปคจะมีการปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันในปีนี้ลงค่อนข้างมาก ปริมาณน้ำมันทั่วโลกก็ยังคงมีมากเกินความต้องการ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการผลิตในสหรัฐฯ
ในทางตรงกันข้าม ทองแดงกำลังเผชิญกับปัญหาอุปทานที่ลดน้อยลง เนื่องจากเหมืองแร่คูคิคามาตา ซึ่งเป็นเหมืองทองแดงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกต้องลดกำลังการผลิตลงเหลือเพียงครึ่งเดียว เนื่องจากมีชุมนุมประท้วงของสหภาพเป็นวันที่ 4 แล้ว โดยรัฐบาลโคเดลโกของชิลียืนยันว่าในวันจันทร์ยังคงกำลังการผลิตของเหมืองทองแดงไว้ที่ 50%
นักเศรษฐศาสตร์ได้ทำการวิเคราะห์ซ้ำเกี่ยวกับการที่ตลาดทองแดงยังทำผลงานได้ไม่ดีนักในช่วงปีที่ผ่านมาว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือเราน่าจะมองข้ามสัญญาณที่ตลาดทองแดงกำลังพยายามจะบอกในฐานะตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจว่าสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเหมือนอย่างที่เห็น
ดัชนีเอ็มไพร์เสตทของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงไปอยู่ในแดนลบเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาหลังจากที่ดิ่งลงอย่างรุนแรงเป็นประวัติการณ์ และฝั่งของจีนก็ได้ปรับลดตัวเลข การผลิตภาคอุตสาหกรรม ที่คาดการณ์ไว้ต่ำที่สุดในรอบ 17 ปี จึงสอดคล้องกับแง่คิดนี้ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากจีนเป็นประเทศผู้ซื้อทองแดงและโลหะที่ใช้ในทางอุตสาหกรรมรายใหญ่ที่สุดของโลก
ข้อมูลทางเทคนิคชี้ว่าการปรับตัวลดลงของราคาอาจจะยังไม่สิ้นสุดเพียงเท่านี้
นายไมค์ ซีรี นักวิเคราะห์ทางเทคนิคที่ได้ติดตามการเคลื่อนไหวของราคาทองแดงมาตลอดปีที่ผ่านมา ด้วยประสบการณ์จากการเป็นที่ปรึกษาด้านสินค้าโภคภัณฑ์ในเมืองเพลนฟิลด์ รัฐอิลลินอยส์มาโดยตลอดทำให้เขาคิดว่าการเทขายในตลาดทองแดงช่วงนี้จะยังไม่สิ้นสุดเพียงเท่านี้ แม้ว่าปริมาณการผลิตที่เหมืองทองแดงคูคิคามาตาจะยังมีอยู่อย่างจำกัดก็ตาม
เมื่อพิจารณาข้อมูลราคาอ้างอิงจาก ตลาดซื้อขายทองแดงล่วงหน้าของสหรัฐฯ เดือนกรกฎาคม ในตลาด Comex ของ New York Mercantile Exchange นายซีรีกล่าวว่า
“ยังคงมีการซื้อขายทองแดงกันอยู่ที่ระดับต่ำกว่าเส้น MA แบบ 20 วัน และ 100 วัน ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่ายังคงเป็นแนวโน้มขาลง”
“ตั้งแต่เดือนก่อนๆ ผมพยายามบอกอยู่เสมอว่าตลาดจะยังเป็นขาลง โดยราคาน่าจะอยู่ที่ระดับ $2.8420 การซื้อขายควรใช้จุด stop loss อยู่ที่ $2.7020 เพราะราคาน่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปอีกประมาณ 6 วัน”
แบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ (BAML) ชี้ว่าสงครามการค้าคือตัวการ
แบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ ชี้ว่าข้อมูลพื้นฐานของทองแดงยังคงถือว่าดีอยู่ เนื่องจากยังคงมีความต้องการที่คงที่จีน อีกทั้งต้นทุนในการดูแลและสกัดก็ลดต่ำลง แต่ราคาซื้อขายล่วงหน้าในตลาด LME รวมทั้งราคาของทองแดงเองกลับไม่สอดคล้องกับข้อมูลดังกล่าว
จากข้อมูลในรายงานของธนาคารเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาระบุว่า
“เรามีความเห็นว่าข้อพิพาทในสงครามการค้า ประกอบกับผลกระทบจากการที่จีนยังต้องพยายามปรับสมดุลทางการค้าให้เติบโตได้ต่อไป คือต้นเหตุสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น”
“ข้อพิพาทในสงครามทางการค้าอาจมีองค์ประกอบทางด้านกลยุทธ์อยู่หลายปัจจัย ซึ่งไม่อาจแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้ด้วยข้อตกลงทางการค้าเพียงฉบับเดียว ดังนั้นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะยังคงเป็นปัญหาอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่ก็น่าค่อยๆ คลี่คลายลงได้ แต่ก่อนที่เวลานั้นจะมาถึง ทองแดงคงจะยังไม่ฟื้นตัวขึ้นได้ง่ายๆ”
เราจะฟังสัญญาณเตือนจากทองแดงในครั้งนี้ไหมล่ะ?